ภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพและความงาม

ภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพและความงาม



ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศไทย มีการเปิดธุรกิจสุขภาพและความงาม ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม สปา นวดหน้า นวดตัว คลีนิกรักษาสิว ดูแลผิวพรรณ รวมทั้งการทำศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพและเพิ่มความมั่นใจ ทั้งในรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ซึ่งเปิดดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่มีความรู้ทางด้านสุขภาพ และการเสริมความงาม และเปิดดำเนินการโดยระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีประเด็นทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง จึงขอนำมากล่าวดังนี้

ในส่วนของคลีนิคความงาม รับทำหน้าสวยใส โบท็อกซ์ ร้อยไหม เสริมความสวยงาม คลีนิกรักษาสิว ดูแลผิวพรรณ รวมทั้งการทำศัลยกรรมตกแต่ง โดยมีแพทย์ประจำที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ตรวจและรักษา รวมทั้งสั่งจ่ายยา และมีการจ้างพนักงานผู้ช่วยแพทย์ นั้น

1. การประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา

    (1) กรณีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ 'สถานพยาบาล' ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ถือเป็นเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร รายได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน VAT ได้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้

    (2) กรณีประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา โดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ 'สถานพยาบาล' (นอกจากจะผิดต่อพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แล้วไม่ทราบว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือไม่) รายได้ที่ไดัรับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณี ท่านไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น  

    หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าเป็น 'สถานพยาบาล' ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร (NON-VAT) ได้แก่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า 'สถานพยาบาล' ไว้ดังนี้

    สถานพยาบาล หมายความว่า สถานที่รวมตลอดถึงยานพาหนะซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม การประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือการประกอบวิชาชีพทันตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ทั้งนี้ โดยกระทำ เป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ แต่ไม่รวมถึงสถานที่ขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ซึ่งประกอบธุรกิจการขายยาโดยเฉพาะ

2. การประกอบกิจการในนามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นเดียวกับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กล่าวคือ

    (1) กรณีมีใบอนุญาตประกอบกิจการ 'สถานพยาบาล' ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ถือเป็นเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร รายได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน VAT ได้

    (2) กรณีไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ 'สถานพยาบาล' (นอกจากจะผิดต่อพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แล้วไม่ทราบว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือไม่) รายได้ที่ไดัรับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

3. กรณีมีรายได้เกี่ยวกับศัลยกรรมใบหน้าทั้งหลาย รายได้จากการฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม ฉีดสารเติมเต็ม  รายได้ขายครีมสำหรับทาหลังจากทำศัลยกรรม ค่าฉีดบำรุงด้วยวิตามิน ล้างสารพิษ เมโสหน้าใส รายได้เกี่ยวกับสิว ฉีดสิว ลดรอยสิว แผลเป็นจากสิว ครีมบำรุง และรักษาสิว ฝ้า กระ รอยด่างดำ และค่าอาหารเสริม นั้น

    หากรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้จากการประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  หากดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกำหนด ย่อมถือว่า เป็นรายได้ของสถานพยาบาลทั้งสิ้น ซึ่งอยู่ในข่ายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายการ ตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้ามิได้ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายสถานพยาบาล เช่น ขายอาหารเสริม โดยไม่มีข้อแนะนำใดๆ จากแพทย์ผู้รักษาพยาบาล ดังเช่นร้านขายยาทั่วไป ก็ย่อมถือเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

4. สำหรับแพทย์นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าทำหน้าที่อะไรในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งนั้น

    (1) กรณีเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนค่าจ้าง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

    (2) กรณีได้รับเงินได้ขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงว่าจะทำการรักษาพยาบาลหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

    (3) กรณีได้รับเงินได้จากการเปิดคลีนิคในสถานพยาบาล เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ในส่วนของธุรกิจสุขภาพ ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม นวดหน้า นวดตัว เครื่องสำอางหรือสมุนไพร นั้น ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจโดยบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายได้ที่ไดัรับจากการประกอบกิจการดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. กรณีประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา

    ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

    ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 โดยต้องยื่นแบบสตง. รายการและเสียภาษีเงินได้ภายในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้

    ภาษีเงินได้บุคคลลธรรมดาประจำภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 โดยต้องยื่นแบบสตง. รายการและเสียภาษีเงินได้ภายในนิติบุคคลภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำจำนวนภาษีเงินได้ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ดมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้

2. กรณีประกอบกิจการในนามของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคคล

    ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

    ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญขีปีแรกและปีสุดท้ายที่มีกำหนดเวลาไม่ถึง 12 เดือน

    ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดย นำภาษีที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.51 ในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมา หักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50

3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

    รายได้จากการประกอบธุรกิจสุขภาพ ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม นวดหน้า นวดตัว เครื่องสำอางหรือสมุนไพร เป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือรับบริการ และออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อ ส่งมอบสินค้าหรือรับชำระราคา แล้วแต่กรณี

    ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ สำหรับการขายสินค้ารายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่ 


บทความโดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์ อดีตสรรพากรภาค 4 กรมสรรพากร

 649
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

กรมสรรพากรประกาศ โดยให้นายจ้างยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.1ก, ภ.ง.ด.1ก พิเศษ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบกับการจ่ายเงินได้เดือนภาษีมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
การพาพนักงานไปเที่ยวต่างจังหวัดทางกรมสรรพากรถือว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากหน้าที่การงานของพนักงานดังนั้นจะถือเป็นเงินได้ของพนักงานเพื่อนำไปรวมในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาไปเที่ยวพักผ่อนประจำปีต้องเสียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่ม
"ยื่นภาษี 2566" การจ่ายภาษีเป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนพลเมืองไทย คนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" นี่ก็ผ่านมาถึงกลางปีแล้ว เพราะฉะนั้น ควรวางแผน ลดหย่อนภาษี ไว้แต่เนิ่น ๆ และหากใครกำลังสงสัยว่าสิทธิ "ลดหย่อนภาษี 2565" มีอะไรบ้าง ทีนี่มีคำตอบค่ะ
TAX กับ VAT เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในโลกออนไลน์กันอย่างต่อเนื่องว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และถือเป็นการเสียภาษีให้กับภาครัฐเหมือนกันหรือไม่?
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์