แรงจูงใจหลักในการที่จะทำให้บริษัทหนึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็คงจะหนีไม่พ้นสิทธิที่บริษัทเสียภาษีบนฐานของผลกำไรของบริษัท กล่าวคือบริษัทสามารถหักรายจ่ายต่างๆออกจากรายได้ได้ตามจริง และเงินได้ของบริษัทที่จะเสียภาษีก็จะเป็นแค่ส่วนของผลกำไรของบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ต้องเสียจากรายได้หรือเหมารายจ่ายได้สูงสุดเพียง 60% เช่นที่ต้องเสียในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีข้อดีแบบนี้อยู่ แต่ในระบบภาษีของเราก็มีสิ่งที่เรียกว่ารายจ่ายต้องห้ามทางภาษีอยู่ กล่าวคือ มีรายจ่ายจำนวนหนึ่งในบัญชีบริษัททั่วไปที่ต้องนับเป็นรายจ่าย เพราะเป็นการเสียเงินของบริษัท แต่รายจ่ายเหล่านนั้น ห้ามนำไปคิดคำนวณเป็นรายจ่ายตอนเสียภาษีเด็ดขาด เพราะผิดกฎหมาย
ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มีหลักๆ ดังนี้
รายจ่ายแบบแรกที่ห้ามนำไปหักภาษีเด็ดขาดคือรายจ่ายของผู้บริหารบริษัทที่อยู่นอกระเบียบบริษัท เช่น ค่าน้ำมัน เงินช่วยเหลืองานบุญ งานบวช หรือกระทั่งงานศพของพนักงาน เป็นต้น รายจ่ายแบบนี้ ถ้าไม่มีกำหนดในระเบียบชัดเจน ห้ามนำมาหักภาษีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจและเป็นรายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารบริษัทเอง ไม่ใช่ของบริษัท
ดังนั้นในทางที่ดีถ้าบริษัทมองว่ารายจ่ายเหล่านี้ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นและจะใช้เงินบริษัทมาจ่าย ก็ควรจะทำการระบุไว้ในระเบียบของบริษัทให้ชัดครับ เช่น ระบุว่าผู้บริหารจะมีค่าน้ำมันเดือนละเท่าไร หรือถ้าพนักงานไปบวชหรือเสียชีวิต บริษัทจะให้เงินช่วยเหล่าเท่าไรในฐานะของสวัสดิการพนักงาน เป็นต้น
รายจ่ายแบบที่สองที่ห้ามนำไปหักภาษี คือค่ารับรองลูกค้าที่เกินโควต้า คนทำธุรกิจโดยทั่วไปก็น่าจะเข้าใจว่ากว่าจะปิดดีลกับลูกค้าได้ ก็ต้อง “เลี้ยง” ลูกค้าไปหลายรอบ อย่างไรก็ดีการเลี้ยงเหล่านี้ในทางกฎหมายมีโควต้าว่าต้องเลี้ยงไม่เกินหัวละ 2,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น (นับหัวรวมพนักงานที่พาไปเลี้ยงด้วย) และรายจ่ายพวกนี้จะต้องไม่เกิน 0.3% ของรายได้บริษัทด้วย โดยเพดานของรายจ่ายตรงนี้สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท นหมายความว่าไม่ว่าบริษัทจะต้องเลี้ยงลูกค้าแค่ไหนกว่าจะปิดดีลได้ แต่รายจ่ายตรงนั้นจะไม่สามารถเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีถ้าเกินเพดานที่ว่าไปครับ
รายจ่ายแบบที่สามที่ต้องห้ามเลยในการเอามาหักภาษี คือรายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ พูดง่ายๆ ก็คือ รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนไปว่าจ่ายไปที่ใคร อันนี้อาจพบได้มากในบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทต้องตั้งงบเบ็ดเตล็ดไว้จัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอุปกรณ์สำนักงาน ล้างแอร์บริษัท หรือกระทั่งการจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่งเอกสาร ประเด็นคือ รายจ่ายเหล่านี้ หากจ่ายไปเป็นเงินสด และผู้รับไม่มีการออกใบเสร็จให้ มันก็จะไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ารายจ่ายพวกนี้จ่ายไปที่ใคร และจะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้ครับ
รายจ่ายแบบที่สี่ ที่บริษัทอาจนับเป็นรายจ่ายของบริษัท แต่สรรพากรไม่นับ คือรายจ่ายที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าจะอธิบายง่ายๆ คือการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการ มันจะมีเงินส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือต้องเก็บไว้เพื่อนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกับสรรพากร เช่นบริษัทขายของได้ 100 บาท บริษัทก็ได้จริงๆ 93 บาท อีก 7 บาทต้องเก็บไว้นำจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร ประเด็นคือ 7 บาทที่ว่านี้ ไม่สามารถเอามาคิดเป็น “รายจ่าย” ของบริษัทตอนเสียภาษีเงินได้นะครับ
รายจ่ายแบบที่ห้าที่ห้ามนำไปหักเวลาคำนวณภาษี คือ รายจ่ายให้กับบริษัทแม่หรือบริษัทลูก บริษัทจำนวนมากมีการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทในเครือข่ายที่เป็นบริษัทแม่หรือบริษัทลูก ซึ่งในทางบัญชีปกติ บริษัทก็จะลงเป็นค่าใช้จ่ายกัน แต่ในทางภาษี ตามกฎหมายไทย บริษัทไม่ว่าจะแม่หรือลูกถือเป็นบริษัทเดียวกันในทางภาษี ดังนั้นการซื้อสินค้าและบริการกันเอง จึงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของเงินในบริษัท ซึ่งนับเป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้
รายจ่ายแบบที่หกที่ห้ามนำมาหักตอนเสียภาษาโดยเด็ดขาดก็คือ รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง บริษัทจำนวนมากมีทรัพย์สินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในทางบัญชีทั่วๆ ไปก็จะต้องมีการประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ตลอด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งมากขึ้นหรือลดลง ซึ่งกรณีที่มันลดลง ในทางบัญชีปกติก็อาจถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์บริษัทลดลง แต่ในทางภาษี เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น และการประเมินมูลค่าก็ไม่มีหลักทางภาษีที่แน่นอนตายตัวในรายละเอียด ทางสรรพากรจึงห้ามเอาการที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทถืออยู่ซึ่งลดลงไปมาคิดเป็นรายจ่ายเด็ดขาด
รายจ่ายแบบที่เจ็ดที่ห้ามนำมาหักออกจากรายได้ในทางภาษีก็คือ รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป อันนี้เป็นในกรณีที่บริษัทสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตัวเองถืออยู่ เช่น การขุดแร่หรือตัดไม้มาขาย แน่นอนว่าจากมุมของบริษัท เมื่อเอาทรัพยากรมาใช้แบบนี้ ทรัพยากรย่อมลดลง และในทางบัญชีโดยทั่วไปก็ถือเป็นรายจ่ายที่ต้องคำนวณกันไป แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ สิ่งเหล่านี้ ในทางภาษีไม่สามารถนำมานับเป็นรายจ่ายได้ ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะมันไม่มีเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไป และถ้าเปิดโอกาสให้เอาส่วนนี้มาเป็นรายจ่าย บริษัทก็มีแนวโน้มจะประเมินมูลค่าทรัพยากรที่เสียไปเกินจริง
รายจ่ายแบบสุดท้ายที่ห้ามเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีแน่ๆ ที่เราจะพูดถึงในที่นี้คือรายจ่ายค่าปรับครับ ค่าปรับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับบริษัทไม่ว่าบริษัทจะทำผิดกฎหมายระดับเล็กน้อยหรือมาก และเมื่อต้องเสียค่าปรับ ก็แน่นอนว่ามันเป็นเงินของบริษัทที่ต้องจ่ายออกไป และในทางบัญชีทั่วไปก็ต้องคิดเป็นรายจ่าย อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบริษัทจะเสียไปตรงนี้จริง ในทางภาษีเราไม่สามารถเอาพวกค่าปรับต่างๆ มาคำนวณในส่วนของรายจ่ายได้ เพราะจากมุมของสรรพากร รายจ่ายตรงนี้ไม่ใช่รายจ่ายทางธุรกิจ แต่มันเกิดจากการที่ธุรกิจทำผิดกฎหมายและได้รับการลงโทษโดยรัฐ มันจึงเอามาคำนวณเป็น “รายจ่าย” ในทางภาษีของบริษัทไม่ได้
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักกว้างๆ ว่าในทางภาษี เราไม่สามารถเอารายจ่ายแบบใดมาคิดคำนวณเพื่อหาผลกำไรของบริษัทได้ อย่างไรก็ดี จริงๆ “รายจ่ายต้องห้าม” ก็ยังมีรายละเอียดไปจนถึงข้อยกเว้นอีกมาก ซึ่งเราสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บของกรรมสรรพากรเลย
ขอบคุณที่มา : https://sme.krungthai.com