การประเมินผล (Evaluation) ถือเป็นกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรเลยก็ว่าได้ เพราะผลประเมินนั้นจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ใช้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น, ตรวจสอบมาตรฐานขององค์กร, ประเมินศักยภาพของพนักงาน, กระตุ้นการทำงานตลอดจนพัฒนาการของบุคลากร, ไปจนถึงประเมินอัตราจ้างและผลโบนัสประจำปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้มีเครื่องมือที่นำมาใช้ประเมินผลมากมายหลายรูปแบบ ตลอดจนวิธีการประเมินผลที่เพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ได้ดีขึ้น หนึ่งในการประเมินผลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือ “การประเมินผลรอบด้านแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และเป็นหนึ่งในเครื่องมือการประเมินผลที่ยอดเยี่ยมที่สุดเลยทีเดียว
การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศานี้ มีการใช้คำในภาษาอังกฤษสองรูปแบบก็คือ 360-degree Feedback หรือ 360-degree review ซึ่งการประเมินผลในลักษณะนี้ก็คือวิธีการตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการแสวงหาข้อมูลด้านความสามารถในการทำงาน (Performance Feedback) ตามตำแหน่งและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของพนักงานคนนั้นๆ เพื่อนำมาประเมินผลการทำงานเพื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่องค์กรวางไว้ ตลอดจนประเมินศักยภาพของพนักงานไปพร้อมกันด้วย
รายละเอียดในการประเมินผลนั้นไม่มีข้อจำกัดใดๆ แต่มีรูปแบบการประเมินผลที่เป็นกรอบชัดเจน นั่นคือจะต้องสอบถามตลอดจนแสวงหาความคิดเห็นจากบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งหมดแบบครบองค์รวม 360 องศา ตั้งแต่ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่สูงขึ้นไป, ผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ต่ำกว่า, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนต่างแผนก, พนักงานในระดับที่อยู่ล่างกว่าแต่ไม่อยู่ในสายบังคับบัญชาโดยตรง, ไปจนถึงผู้ที่อยู่นอกองค์กรแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน อย่างเช่น ลูกค้า, คู่ค้า, ไปจนถึงหุ้นส่วนกิจการ เป็นต้น นั่นคือส่วนของบุคคลอื่น
แต่หัวใจสำคัญอีกอย่างของการประเมินผลรอบด้านแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) นี้ก็คือการที่ต้องประเมินผลตนเองด้วย ว่ามีความสามารถหรือศักยภาพอย่างไร เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดไปประมวลผลออกมาเป็นผลการประเมินที่รอบด้าน หลากหลายมุมมอง เป็นข้อมูลการประเมินที่มีการชั่งน้ำหนักจากหลายฝ่าย ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือขึ้น
การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) นั้นมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านดังต่อไปนี้
การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศานี้ มีการใช้คำในภาษาอังกฤษสองรูปแบบก็คือ 360-degree Feedback หรือ 360-degree review การประเมินผลนั้นมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายวิธีมาก แต่จุดประสงค์ของการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศานี้เหมาะสำหรับองค์กรที่มีมิติการทำงานหลากหลายระดับ และองค์กรที่มีขนาดใหญ่ เพราะความคิดเห็นที่หลากหลายด้าน จากหลากหลายระดับ จะทำให้ความคิดเห็นมีความละเอียดยิ่งขึ้น มีการมองต่างมุม มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ที่รอบด้าน เพื่อนำมาประมวลผลให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด
จุดประสงค์อีกอย่างของการทำแบบประเมินผลรอบทิศนี้ก็คือการต้องการกระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรตื่นตัว และกระตือรือร้นในการทำงาน ตลอดจนสร้างทักษะในการทำงานร่วมกันด้วย เพราะการประเมินจะทำกับทุกคนโดยมีทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตนให้ความร่วมมือในการประเมิน ดังนั้นทุกคนต่างก็มีผลต่อการประเมินของทุกคนเช่นกัน และนั่นก็จะเกิดผลดีในการทำงานองค์รวมให้กับองค์กรได้ในที่สุดด้วย
การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) นั้นนอกจากจะประเมินผลจากบุคคลหลากหลายมิติที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้ประเมินแล้ว สิ่งที่ควรทำการประเมินจะแบ่งเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ ดังนี้
การประเมินผลด้านความสามารถในการทำงานที่เกิดจากการสอบถามข้อมูลรอบด้านจะทำให้เราเห็นศักยภาพการทำงานที่แท้จริงได้เช่นกัน เพราะบางครั้งผู้ประเมินอาจประเมินตนเองไว้ในระดับสูง แต่หัวหน้างาน ตลอดจนผู้ร่วมงานอาจเห็นตรงกันข้าม หรือบางทีผู้ประเมินอาจถ่อมตน กดการประเมินของตัวเองไว้ต่ำ แต่คนอื่นกลับมองว่ามีศักยภาพ นั่นทำให้เราสามารถประเมินผลการทำงานได้ในหลากหลายมุมมอง และได้รับข้อมูลหลากหลายมิติด้วย
การประเมินผลด้านพฤติกรรมนั้นเป็นการประเมินผลที่วัดค่าได้ยาก และกำหนดมาตรฐานตายตัวไม่ได้ การประเมินผลด้านพฤติกรรมนี้มักอยู่บนพื้นฐานการรับรู้และตีความของแต่ละบุคคล แต่กรอบโดยรวมมักจะมีบรรทัดฐานเดียวกัน การประเมินผลด้านพฤติกรรมนี้เปรียบเสมือนการให้คะแนนจิตพิสัยที่ไม่ได้ใช้เกณฑ์ตามหลักวิชากรหรือความสามารถเป็นพื้นฐาน แต่ใช้เกณฑ์ด้านลักษณะนิสัยและการประพฤติปฎิบัติตน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือการทำงานกับคนหมู่มากด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลหลายอย่าง ทั้งต่อการทำงาน และต่อผู้ร่วมงานในทุกระดับ หากมีพฤติกรรมที่ดีก็ทำให้ใครอยากร่วมงานด้วย การทำงานราบรื่น แต่หากพฤติกรรมแย่ก็อาจทำให้ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย ทั้งที่ความสามารถผ่าน แต่พฤติกรรมไม่ผ่าน ก็ทำให้กระทบกับงานได้อย่างไม่คาดคิดเช่นกัน และการประเมินผลด้านพฤติกรรมนี้เหมาะที่สุดสำหรับการประเมินแบบรอบทิศ 360 องศา อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการได้รับข้อมูลในหลากหลายมิติ ได้รับความคิดเห็นจากหลายมุมมอง ไม่ตัดสินใจใครจากมุมมองเดียว ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายด้วย
การสื่อสารถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานในทุกระดับทีเดียว การสื่อสารตั้งมีตั้งแต่การสื่อสารในการทำงาน และการสื่อสารระหว่างบุคคลอื่น ตลอดจนการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดสารระหว่างกัน การประเมินทักษะในการสื่อสารนี้ควรประเมินทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเราสามารถประเมินจากคนรอบทิศแบบ 360 องศา ได้เป็นอย่างดีที่สุด ซึ่งเราสามารถสำรวจผลสัมฤทธิ์ของการสื่อสารแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันผู้ถูกประเมินก็จะถูกประเมินเรื่องการสื่อสารไปในตัว และเห็นผลได้ชัดเจนว่ามีทักษะในการสื่อสารที่ดีหรือไม่เพียงไร การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้นอาจทำให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น ในขณะเดียวกันการสื่อสารที่มีปัญหา ก็สร้างปัญหาในการทำงานได้เช่นกัน และปัญหาหลายๆ อย่างในการทำงานทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของการสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ สื่อสารผิดพลาด และสร้างสารที่มีประสิทธิภาพไม่เป็นนั่นเอง ซึ่งอาจทำให้องค์กรเกิดปัญหาได้
องค์กรไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนคนเดียว และบางครั้งก็ไม่ได้ขับเคลื่อนจากคนในองค์กรเพียงอย่างเดียวด้วย ฉะนั้นการทำงานร่วมกับผู้อื่นตลอดจนสามารถทำงานในระบบทีมได้อย่างดีเยี่ยมจะยิ่งทำให้การทำงานเป็นระบบระเบียบ ราบรื่น และร่วมแรงร่วมใจกัน การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา นี้จะทำให้เห็นทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการทำงานในระบบทีมได้อย่างชัดเจนมาก รวมไปถึงทักษะในการประสานงานทั้งกับคนในองค์กรและกับคนนอกองค์กรที่มีผลต่อการทำงานได้ดีอีกด้วย
การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) เป็นกระบวนการในการได้รับข้อมูลตลอดจนวิเคราะห์ผลการประเมินจากหลากหลายด้าน หลากหลายบุคคล หลากหลายความคิดเห็น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดี รอบด้าน มีหลากหลายมุมมอง มีหลากหลายน้ำหนัก อีกส่วนก็คือเปิดโอกาสให้ผู้ถูกประเมินได้มีโอกาสประเมินตนเองด้วย ซึ่งเมื่อนำมาประมวลผลจะทำให้ได้ผลการประเมินที่มีคุณภาพ แต่ถึงอย่างไรการประเมินผลแบบนี้ก็ต้องดูลักษณะงานประกอบกันด้วยว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร ควรชั่งน้ำหนักอย่างไร ให้ความสำคัญระดับไหน หรือควรมีการประเมินผลรูปแบบอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับสำหรับทุกฝ่าย และให้ได้ผลประเมินที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ได้ผลการประเมินที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งประโยชน์ต่อผู้ถูกประเมินเอง รวมไปถึงประโยชน์ต่อองค์กรอีกด้วย ซึ่งหากนำผลประเมินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะเกิดพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นกับทุกฝ่ายแน่นอน
ที่มา : https://th.hrnote.asia