จากบทความเรื่องงบกระแสเงินสดที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้าในหัวข้อ "ทำความรู้จักงบกระแสเงินสด" ได้มีการอธิบายภาพรวมและประโยชน์ของงบประเภทนี้ไปบ้างแล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการเห็นความเคลื่อนไหวของเงินสดในธุรกิจว่าได้รับและจ่ายออกไปกับเรื่องใดบ้างและมีเงินสดเหลืออยู่ในธุรกิจ ณ วันที่อ่านข้อมูลอยู่เท่าไหร่ ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยประเมินความสามารถในการจ่ายเงินสดในการดำเนินธุรกิจด้วย
คราวนี้เราจะมาทำความเข้าใจรูปแบบต่างๆ ของงบกระแสเงินสด รวมถึงวิธีการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลในงบกระแสเงินสดในแต่ละประเภทกัน
ประเภทของงบกระแสเงินสดในทางบัญชี
ในทางบัญชีนั้น งบกระแสเงินสดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก โดยแบ่งตามวิธีการจัดทำงบกระแสเงินสด ได้แก่ทางตรงและทางอ้อม และในงบกระแสเงินสดทั้งทางตรงและทางอ้อมต่างก็สามารถแยกย่อยข้อมูลภายในได้ เป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CO) กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (CI) และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินทุน (CF)
สำหรับวิธีคิดคำนวณงบกระแสเงินสดโดยหลักๆ ก็ใช้วิธีคิดเดียวกัน คือดูผลต่างของเงินสดที่รับเข้ามาในธุรกิจ หักออกด้วยเงินสดที่จ่ายออกไป ได้ผลต่างออกมาเป็นเงินสดคงเหลือ หรือก็คือเงินสดที่เหลืออยู่ในธุรกิจที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้
วิธีการจัดทำงบกระแสเงินสดทางตรง (Direct Method)
วิธีจัดทำงบกระแสเงินสดทางตรงจะใช้วิธีคำนวณเงินสดจากกระแสเงินสด ทางรับและทางจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโดยตรง ซึ่งก็คือคิดคำนวณเงินสดจากเงินสดที่ได้จากการขายสินค้าหรือบริการ หักลบออกด้วยเงินสดที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสินค้าหรือบริการต่างๆ เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการผลิต รวมถึงหักค่าใช้จ่ายเป็นดอกเบี้ยและภาษี (ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น เครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี)
การจัดทำงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานโดยวิธีทางตรงนี้ มูลค่าที่ได้จากการคำนวณจะเป็นมูลค่าเทียบเท่าเงินสดที่เหลืออยู่ในธุรกิจ จริงๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารมองเห็นภาพเงินสดรับ-จ่ายในช่วงเวลา หนึ่งๆ ได้ชัดเจน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเงินรับและจ่ายในการผลิตและขายสินค้าหรือบริการ เป็นประโยชน์ในการทำนายหรือประมาณการกระแสเงินสดได้ว่าจะมีรูปแบบเดียวกัน หรืออาจได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ที่กำลังจะเกิดขึ้นจนอาจทำให้ปริมาณกระแสเงินสดในธุรกิจของเราในอนาคตเปลี่ยนไปหรือไม่
วิธีการจัดทำงบกระแสเงินสดทางอ้อม (Indirect Method)
งบกระแสเงินสดทางอ้อมนั้นเป็นการสรุปภาพกระแสเงินสดโดยเปลี่ยนมุมมามอง จากการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน (ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่เทียบเท่าเงินสด) แทน
งบกระแสเงินสดทางอ้อมนั้น ในส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน จะไม่ใช่การคำนวณจากกระแสเงินสดเข้าออกจากการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการเหมือนอย่างทางตรง แต่จะเริ่มโดยนำเอาผลกำไรหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะบัญชีนั้นมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำรายการทางบัญชีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด หรือไม่กระทบกับเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย มาปรับเป็นตัวเลขเพื่อใช้หักลบและบวกเพิ่มแทน
แต่ไม่ว่าจะวิธีจัดทำงบกระแสเงินสดแบบทางตรงหรือทางอ้อมจะมีรายละเอียดแตกต่างกันในการมองตัวเลขในส่วนกิจกรรมดำเนินงาน (CO) แต่ก็เป็นการคิดที่ยืนอยู่บนตัวเลขจากข้อมูลชุดเดียวกัน จึงทำให้ผลลัพธ์ของทั้ง 2 วิธีได้ผลลัพธ์ของกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CO) เท่ากัน ส่วนการแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (CI) และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CF) ยังคงเหมือนเดิม
ข้อมูลที่ได้จากการจัดทำงบกระแสเงินสดทำให้ทราบว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินกิจการมีเงินสดรับเข้ามาจากส่วนใด และใช้จ่ายเงินสดไปกับกิจกรรมอะไรบ้าง จึงถือว่าเป็นเข็มทิศนำทางที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้บริหารหรือผู้ประกอบการ เพราะทำให้เราตอบคำถามได้มากมายทั้งการกระจุกตัวของรายจ่าย ความลงตัวของรายได้ หรือแม้แต่ความคุ้มค่าในการลงทุนเพิ่มหรือขยายกิจการ เพราะงบกระแสเงินสดนั้นคือการสรุปภาพการใช้เงินของธุรกิจของเรานั่นเอง
บทความโดย : incquity.com
ประกาศบทความโดย : http://www.prosmes.com