กระแสเงินสด เรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้

กระแสเงินสด เรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้

 

กระแสเงินสด เรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้

 

 

       ในมุมมองและความเข้าใจของผู้ประกอบการหน้าใหม่ การทำธุรกิจอาจเริ่มต้นจากการนำเงินไปลงทุนเป็นค่าเครื่องจักรและค่าวัตถุดิบเพื่อทำสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจออกมา ตั้งราคาให้พอเหมาะ ถ้าสินค้าดีและน่าสนใจจริงก็จะมีคนซื้อต่อเนื่อง เกิดเป็นกำไรได้ตามเป้าหมายก็ถือว่าประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลากหลายมุมมองและรายละเอียดสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือเงินที่นำมาใช้จ่ายหมุนเวียนในการผลิตสินค้านั้นจะมาจากแหล่งใด และถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา 

       ในวงจรการทำธุรกิจ เงินถือได้ว่าเป็นต้นทุนของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร วัตถุดิบ ค่าแรง หรือแม้แต่ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีรอบระยะในการชำระแตกต่างกันไป เช่น เราอาจจ่ายครั้งเดียวเป็นก้อนใหญ่เพื่อซื้อเครื่องจักรหรือสร้างอาคาร บางประเภทเป็นการจ่ายเป็นครั้งคราว เช่น ภาษีปีหนึ่งจ่ายที ค่าใช้จ่ายบางประเภทต้องจ่ายเป็นประจำเป็นงวด เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างเงินเดือน ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ รวมถึงการใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่คาดคิด ทุกๆ การจ่ายเงินออกและรับเงินเข้านั้นต่างมีช่วงเวลาหรือรอบวงจรของมันอยู่ นั่นก็หมายถึงว่าแม้ว่าเราจะดูเหมือนทำกำไรได้ดีและมีเงินรออยู่มากมายในอนาคต แต่ถ้าเราขาดการบริหารจัดการเงินเข้าออกที่ดี เกิดช่วงเวลาที่เงินออกมากกว่าเงินเข้า หรือช่วงต่อระหว่างเงินแต่ละก้อนไม่สอดคล้องกัน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดภาวะขาดเงินสดซึ่งเป็นได้ตั้งแต่เงินขาดมือไป จนถึงทำให้ธุรกิจเดินต่อไปไม่ได้เลยทีเดียว 

       การทำความเข้าใจการบริหารเงินสดที่หมุนเข้าออกในธุรกิจนี่เองจึงเป็นหนึ่งในเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดูแลให้ธุรกิจ สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด และสิ่งนี้เองที่เรียกว่า กระแสเงินสด 

กระแสเงินสดคืออะไร 

       การทำความเข้าใจกระแสเงินสดนั้น คือการพิจารณาทั้งรอบของเงินสดที่จะหมุนเข้ามาในธุรกิจ และรอบของเงินที่จะจ่ายออกไปอย่างละเอียดไปพร้อมๆ กัน โดยจุดประสงค์ก็เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ และยังมีเงินใช้จ่ายอยู่อย่างต่อเนื่อง 

       เงินที่หมุนเข้ามาในธุรกิจก็เช่น เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ เงินที่กู้จากธนาคาร เงินจากการจำหน่ายสินค้า หรือเป็นผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลจากการลงทุนนอกเหนือจากธุรกิจหลัก (อาทิผลตอบแทนจากการลงทุนพันธบัตรหรือหุ้น) ส่วนเงินที่ใช้จ่ายในการทำธุรกิจอาจเป็นเงินที่ใช้ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น ซื้อเครื่องจักร ซื้อที่ดิน สร้างอาคาร หรืออาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำอย่างค่าแรงหรือค่าจ้างพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าภาษีประจำปี เป็นต้น การทำความเข้าใจกระแสเงินสดนั้นจะเป็นการพิจารณากระแสเงินเหล่านี้ว่ามีรอบ ระยะและจำนวนเป็นอย่างไร เช่น ลูกค้าจะจ่ายชำระค่าสินค้าในช่วงเวลาใด หรือบริษัทเองมีรอบที่จะต้องชำระเงินค่าวัตถุดิบหรือจ่ายค่าแรงเมื่อไร ช่วงเวลาไหนที่จำเป็นจะต้องลงทุนค่าเครื่องจักรชุดใหม่ เป็นต้น แล้วนำชุดข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณกระแสเงินสดที่หมุนเวียนเข้าออกในธุรกิจใน ช่วงระยะเวลานั้นๆ ว่ามีปริมาณเงินสด ณ ช่วงเวลาที่เราสนใจนั้นยังมีเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือไม่ หรือบางครั้งอาจไม่ดีแต่ก็เกิดในลักษณะที่ยอมรับได้ก็เป็นได้ กระแสเงินสดหมุนเวียนปกติแล้วจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 

• กระแสเงินสดเป็นบวก (Positive Cash Flow) เกิดขึ้นต่อเมื่อเงินเข้ามีมากกว่าเงินออก ซึ่งหมายความว่ามีเงินสดสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ 

• กระแสเงินสดติดลบ (Negative Cash Flow) เกิดขึ้นต่อเมื่อกระแสเงินไหลออกมากกว่าเงินเข้า 

       ซึ่งโดยมากการละเลยการพิจารณาปัญหาในขณะที่กระแสเงินสดของธุรกิจกำลังติดลบอยู่ นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การดำเนินกิจการหยุดชะงักเนื่องจากมีเงินสด ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายนั่นเอง 

กระแสเงินสดกับธุรกิจ 

       สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังวางแผนการลงทุนก้อนแรก การวางแผนสำรองเงินสดไว้หมุนเวียนช่วงแรกให้เพียงพอนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ เพราะการที่ธุรกิจเพิ่งเปิดตัว ยังไม่มีคนรู้จักมากนักทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่เงินรายได้จากการขายสินค้าในช่วงเดือนแรกๆ จะยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายในการดำเนินการต่างๆ หรือแม้แต่การเอื้อประโยชน์ในรูปแบบของเครดิตให้กับคู่ค้าเองก็อาจให้ผลเชิงลบกับเราทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งหากตั้งแต่ตอนแรก เราใช้เงินทั้งหมดที่มีลงทุนไปตั้งแต่เริ่มต้นโดยไม่ได้สำรองเงินสดเผื่อไว้เลย ก็จะทำให้ไม่มีเงินหมุนให้ธุรกิจเดินต่อได้เพียงพอ จุดจบของกิจการก็อาจไม่ไกลจากจุดเริ่มต้นเท่าไรนัก 

       สมมติว่าเรากำลังจะเปิดธุรกิจโรงงานขนมปัง และมีเงินก้อนแรกจากการลงหุ้นรวมกับการกู้ยืมธนาคาร ซึ่งเงินก้อนนี้เราอาจแบ่งเอาเงินไปลงทุนซื้อเครื่องจักรในการผลิตเป็น 30% ของเงินก้อนทั้งหมดที่มี อีก 20% ลงไปกับวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับผลิตของล็อตแรก หลังจากหักเงินลงทุนก้อนนี้ออกแล้วจะเหลือเงินสดอยู่อีก 50% ซึ่งเงินจำนวนนี้ควรสำรองไว้เป็นเงินหมุนในช่วงแรก เผื่อในกรณีที่ยังเก็บค่าขนมปังล็อตแรกจากร้านค้าปลีกไม่ได้หรือยังไม่ถึงรอบขำระ แต่มีความจำเป็นต้องสั่งวัตถุดิบสำหรับผลิตขนมปังล็อตสองแล้ว เงินที่เหลืออยู่ส่วนนี้ก็จะได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตรอบถัดไปได้โดยไม่หยุดชะงัก 

       สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ก็ใช้แนวคิดเดียวกัน กล่าวคือจะต้องมีการวางแผนและควบคุมกระแสเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจให้มีสภาพคล่อง เพราะหากไม่ควบคุมดูแลให้ดี หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่มีเงินเข้าตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ครบกำหนดชำระเงินแล้วแต่ลูกค้าไม่จ่ายเงินตามข้อตกลงหรือขอเลื่อนระยะเวลาจ่ายเงินออกไปอีก ทำให้ไม่มีเงินสดเข้าและขาดเงินสดที่ต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภาวะเช่น นี้อาจเรียกว่าเป็นภาวะขาดเงินสดหมุนเวียน อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

       จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์กระแสเงินสดถือเป็นเรื่องจำเป็นมากในการทำธุรกิจ การทำความเข้าใจเรื่องเงินและรอบระยะเวลาในการรับและจ่ายเงินออกแล้ว นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการดูแลบริหารธุรกิจในด้านต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะประสบภาวะขาดเงินสดหมุนเวียน และช่วยให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโตและอยู่รอดได้ในที่สุด 



บทความโดย : incquity.com
ประกาศบทความโดย : http://www.prosmes.com

 2277
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์