ตำแหน่ง Telesales หรือพนักงานขายทางโทรศัพท์ผู้ที่สนใจตำแหน่งนี้อาจไม่ได้โฟกัสว่าต้องจบคณะไหนสาขาใด สิ่งสำคัญคือใจต้องรักในการขายหน้าที่ส่วนใหญ่คือติดต่อลูกค้าทางโทรศัพท์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งโดยส่วนใหญ่อัตราค่าจ้างจะเริ่มประมาณ 12,000-13,000 บาท ไม่รวมกับค่าคอมมิชชั่น และสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละบริษัท
ปัจจุบันตำแหน่ง Telesales มีความสำคัญกับธุรกิจไม่น้อยแต่กลับรู้สึกว่าคนที่สนใจในตำแหน่งนี้มีน้อยลง ที่สนใจทำส่วนใหญ่ก็เพราะเลือกไม่ได้หรือไม่มีโอกาสเลือก รวมถึงคนที่ต้องการหารายได้ให้พอจุนเจือไปพลางๆ
ซึ่งหากว่าไปแล้วอาชีพนี้ถ้าใจรัก ทำได้จริง และอยู่กับบริษัทที่ดีมีคุณภาพ รายได้ถือว่ามั่นคงและดีกว่างานประจำอีกหลายตำแหน่งด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามหากคิดจะก้าวมาเป็นนักขายขั้นเทพทางโทรศัพท์ได้ จำเป็นที่ต้องศึกษาเทคนิคสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้
1.ปลุกพลังใจตัวเองให้ได้ก่อน
ทุกอย่างต้องเริ่มจากพลังใจ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องพูดคุยกับคนจำนวนมาก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าปลายสายที่เราพูดด้วยนั้นเขาเป็นคนแบบไหนอย่างไร หากเจอคนพูดดีเราก็อยากพูดด้วยแต่หากเจอคนถามคำตอบคำ หรือพูดด้วยไม่พูดด้วย หรือพวกพูดไม่รู้เรื่อง หากไม่มีกำลังใจที่ดีพอเราก็ท้อแท้หมดหวังเบื่อหน่ายได้ง่ายทันที
ซึ่งหากใครคิดจะเดินทางในอาชีพนี้อย่างแรกต้องมีใจให้กับการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม จะได้มีชีวิตชีวาในการทำงาน ลูกค้าที่เราพูดคุยด้วยก็จะรับรู้ได้ผ่านทางเสียงที่เราพูดคุยกัน วิธีการปลุกกำลังใจนั้นมีมากมาย หาได้ตามอินเทอร์เนตหรือคอร์สออนไลน์ต่างๆ
2.สนใจเรื่องของลูกค้าเหมือนเป็นเรื่องตัวเอง
การจะสร้างยอดขายได้ขั้นแรกเราต้องสร้างความเป็นกันเองกับลูกค้าได้ก่อน การพูดเสนอขายไม่จำเป็นต้องตามสคริปทั้งหมด การพูดที่เป็นธรรมชาติจะทำให้คนฟังรู้สึกสนใจได้มากกว่า
ดังนั้นหากเป็นไปได้เราควรรู้ข้อมูลลูกค้าเบื้องต้นก่อนโทรหาเพื่อจะรู้ว่าเขาเป็นใคร และยิ่งถ้ารู้ว่าชอบอะไร เช่นชอบฟังเพลง ละคร หรือว่ากีฬา จะทำให้เราสร้างหัวข้อในการสนทนาได้ง่ายขึ้น ลูกค้าจะรู้สึกเป็นกันเองและถ้ายิ่งคุยถูกคอเราก็สามารถปิดท้ายด้วยการขายได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญเราต้องสร้างบรรยากาศการสนทนาให้เหมือนลูกค้าได้คุยกับเพื่อน จะทำให้เขาเปิดใจได้มากขึ้นด้วย
3.อย่าพูดแค่ “ครับ” “คะ” “เข้าใจครับ/คะ”
ลำพังแค่ลูกค้ารู้ว่าปลายสายต้องการเสนอขายสินค้าบางทีถ้าไม่ปฏิเสธทันที ลูกค้าก็อาจจะระบายความรู้สึกอะไรต่างๆ นานาออกมาในฐานะที่เราจะเป็น Telesales ขั้นเทพอย่ายึดแนวทางว่าเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วยการ พูดแค่ “ครับ” “คะ” “เข้าใจครับ/คะ” เพราะแทนที่ลูกค้าจะรู้สึกดีก็อาจจะรำคาญขึ้นมากกว่าเดิม เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าเราก็แค่ฟังๆ อย่างเดียวไม่มีวิธีแก้ไขอะไรพอเล่าจบไม่พูด ครับ พูดคะ ก็ตัดเข้าการขายของอีกทั้งลูกค้าจะรู้สึกว่าไม่ต่างอะไรจากการคุยกับ Bot เหมือนคนคุยกะหุ่นยนต์พูดได้แค่ครับ กับ คะ นอกจากลูกค้าไม่ซื้อสินค้าแล้วอาจสร้างความรู้สึกแย่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทางที่ดี Telesales ควรใช้จิตวิทยารับมือกับลูกค้าในลักษณะนี้ และพูดคุยหาทางออกร่วมกันซึ่งสุดท้ายอาจไม่สามารถปิดการขายได้ในทันทีแต่ก็อาจสร้างความรู้สึกดีๆ สำหรับการขายในอนาคตได้
4.วางแผนคำพูดให้เป็นระเบียบ
การขายทางโทรศัพท์เรามีโอกาสเจอลูกค้าหลากหลายอารมณ์ดังนั้นแพลตฟอร์มที่ท่องจำจึงไม่สามารถใช้ได้ ต้องรู้จักพลิกแพลงตามสถานการณ์ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ “อย่าพูดวกวน” “พูดซ้ำซาก” ข้อมูลผลิตภัณฑ์เราต้องแม่น
รวมถึงวางแผนการพูดเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงคำสะเปะสะปะ เช่น “เอ่อ” “อ๋า” “แบบว่า” “อะไรเงี้ยะ” แม้จะเป็นคำที่ดูเหมือนเป็นกันเองแต่ไม่ควรพร่ำเพรื่อ ยิ่งหากลูกค้าเราเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหรือการงานสูง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยิ่งควรมีการวางแผนคำพูดให้เป็นระเบียบยิ่งขื้น ผู้ฟังจะได้รู้สึกเหมือนเป็นการคุยกับคนที่มีวุฒิภาวะใกล้เคียงกัน จะทำให้ง่ายต่อการเปิดใจมากขึ้นด้วย
5.นักขายที่ดีต้องมีตัวเลือกการขายที่หลากหลาย
ปัญหาของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกันไปดังนั้นผลิตภัณฑ์เดียวกันที่เราขายอาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของลูกค้าทุกคน ในฐานะ Telesales อาจต้องมีสินค้าเสนอขายมากกว่า 1 อย่างแม้ขณะนั้นเราจะขายผลิตภัณฑ์ใดเป็นหลักอยู่ก็ตามแต่ในระหว่างสนทนาก็จะเจอปัญหาว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่เหมาะกับลูกค้าหรือเจอกับปัญหาอื่นที่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้แก้ไขไม่ได้ เช่นการเสนอขายแพคเกจโฆษณา
บางทีลูกค้าอาจทุ่มงบการโฆษณาไปหมดแล้ว เราก็ควรมีตัวเลือกทางอื่นเช่น เสนอขายคอลัมน์ให้ลูกค้าแทนการโฆษณาแบบทั่วไป ซึ่งนอกจากการพูดที่ดีเป็นธรรมชาติ นักขายที่ดีต้องทำตัวเหมือนผู้วิเศษที่มีหนทางแก้ไขปัญหาทางออกได้ในทุกกรณี
ทั้งนี้ความยากของการขายทางโทรศัพท์คือการไม่เห็นหน้าคู่สนทนาได้ยินเพียงแต่เสียง และการโทรหาเราก็ไม่ทราบได้ว่าขณะนั้นลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน และมีกิจธุระสำคัญอะไรอยู่บ้าง การขายทางโทรศัพท์ที่ดีจึงต้องทำงานร่วมกับการออกไปพบปะลูกค้าบ้าง บริษัทเองก็ควรให้ความสำคัญกับการที่ฝ่ายขายต้องออกไปพบกับลูกค้าซึ่งเป็นผลดีที่อาจทำให้ปิดการขายได้ง่ายขึ้น กำไรของธุรกิจก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มา : http://www.thaifranchisecenter.com/