ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จำนวนมากไม่ค่อยสนใจเรื่องของโครงสร้างทางการเงินและโครงสร้างเงินทุนของกิจการ เพราะการเริ่มธุรกิจมักจะเริ่มด้วยเงินส่วนตัวที่มีอยู่และเมื่อกิจการเติบโตขึ้นก็ใช้วิธีกู้เงินเท่านั้น สำหรับธุรกิจขนาดเล็กบางรายก็เริ่มธุรกิจด้วยเงินกู้ยืมจากคนอื่นก่อนจึงทำให้กิจการอยู่ไม่รอดเพราะมีภาระดอกเบี้ยจนกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับธุรกิจที่มีแนวคิดดีแต่การเริ่มต้นธุรกิจไม่มีการจัดการโครงสร้างทางเงินที่เหมาะสมทำให้ธุรกิจมีหนี้สินมากเกินไป และประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนถึงต้องเลิกกิจการไป
โครงสร้างทางการเงิน (Financial Structure) หมายถึงแหล่งเงินทุนทั้งหมดที่ธุรกิจจัดหามาเพื่อใช้ในการดำเนินงานทั้งแหล่งเงินทุนระยะสั้นและแหล่งเงินทุนระยะยาว ซึ่งแหล่งเงินทุนระยะสั้นประกอบไปด้วยเจ้าหนี้การค้าและตั๋วเงินจ่าย เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร เงินกู้ระยะสั้น ส่วนแหล่งเงินทุนระยะยาวประกอบไปด้วยเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น หนี้สินระยะยาว หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้และกำไรสะสมของกิจการ สำหรับโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) หมายถึงแหล่งเงินทุนระยะยาวเท่านั้นไม่รวมถึงแหล่งเงินทุนระยะสั้น ซึ่งประกอบไปด้วย เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น หนี้ที่มีระยะยาว หุ้มกู้ หุ้มบุริมสิทธิ และกำไรสะสม จะเห็นว่าโครงสร้างเงินทุนเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางการเงินเพียงแต่ไม่รวมถึงหนี้สินระยะสั้นและ เจ้าหนี้การค้าเข้าไปนั่นเอง ภาพข้างล่างจะทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในโครงสร้างทางการเงินซึ่งก็คือหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง เป็นการบอกว่าทรัพย์สินของกิจการหาซื้อมาได้จากเงินของตัวเองหรือเงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินมา
จากสมการบัญชีตามภาพจะเห็นว่าการได้สินทรัพย์มาได้ก็ต้องมาจากเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นหรือการกู้ยืมเงินมา
หากทรัพย์สินของกิจการถูกซื้อมาจากการกู้ยืมเสียเป็นส่วนใหญ่ก็จะทำให้โครงสร้างทางการเงินมีความไม่เหมาะสมเพราะฐานะของกิจการจะไม่มั่นคง ผู้ให้กู้ก็จะไม่ให้กู้เงินหากไม่มีทรัพย์สินไปค้ำประกัน ภาระดอกเบี้ยของกิจการก็จะสูง เหมือนทำธุรกิจไปแล้วเหนื่อยเปล่าเพราะต้องทำไปใช้หนี้และจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว ผู้ประกอบการ SMEs มักไม่คำนึงถึงข้อนี้ทำให้ไม่สามารถขอเงินกู้จากธนาคารได้โดยธนาคารก็ไม่ยอมแจ้งสาเหตุว่าเพราะอะไร
จากตัวอย่างด้านบน บริษัท A และบริษัท B ที่มีโครงสร้างทางการเงินที่แตกต่างกัน โดยบริษัท A มีสินทรัพย์ 1,000,000 บาทมีการกู้เงินจำนวน 800,000 บาทและใช้ทุนตนเองเพียง 200,000 บาท แต่บริษัท B มีสินทรัพย์จำนวน 1,000,000 บาทเท่ากันแต่ใช้เงินกู้จำนวน 500,000 บาทใช้ทุนตัวเอง 500,000 บาท ซึ่งบริษัท B มีความมั่งคงมากกว่าและภาระดอกเบี้ยของบริษัท B ก็คงน้อยกว่าบริษัท A อย่างแน่นอน การที่บริษัท A จะขยายกิจการและขอเงินกู้เพิ่มจากสถาบันการเงินก็คงยากกว่าบริษัท B เพราะมีโครงสร้างเงินทุนที่มีหนี้สูงเกินไป
โดยทั่วไปการวัดความเหมาะสมของโครงสร้างทางการเงินและโครงสร้างเงินทุนมักใช้อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage ratio) อัตราส่วนเหล่านี้เป็นการวัดโครงสร้างทางการเงินของกิจการว่ามีสัดส่วนหนี้สินเป็นกี่เท่าของทุน การมีหนี้มากเกินไปจะเป็นภาระเรื่องดอกเบี้ยและมีความเสี่ยงที่อาจขาดสภาพคล่องได้ทำให้กิจการไม่มั่นคง กิจการใดที่มีหนี้สินมากเกินไปจะทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมีความเครียดในการหมุนเงิน สำหรับอัตราส่วนที่นิยมใช้มี 2 อัตราส่วนคือ
1. อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม (Debt ratio) = หนี้สินรวมหารด้วยสินทรัพย์คูณด้วย 100 (%)
อัตราส่วนนี้จะบอกให้เราทราบว่ากิจการมีหนี้สินเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทั้งหมด ยิ่งสูงยิ่งมีหนี้มากหมายถึงเรามีการซื้อสินทรัพย์ด้วยหนี้มากกว่าเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น โดยทั่วไปไม่ควรเกินร้อยละ 60
2. อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) = หนี้สินรวมหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น (เท่า)
อัตราส่วนนี้เป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้กันมากทั้งนักวิเคราะห์และผู้ให้สินเชื่อเพราะจะทำให้ทราบว่ามีหนี้สินเป็นกี่เท่าของทุน โดยทั่วไปอัตราส่วนนี้ควรจะเป็น 1 เท่า มีความหมายความว่ามีหนี้สิน 1 บาทในขณะที่มีทุน 1 บาทเช่นกัน แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ทันทีหากมีปัญหาเกิดขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ควรคำนึงถึงโครงสร้างทางการเงินในการดำเนินธุรกิจด้วยเพื่อให้มีกำไรสูงสุดและรักษาสถานะของกิจการให้มีความมั่นคงและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้เมื่อถึงเวลาขยายกิจการซื้อเครื่องจักรหรือสร้างโรงงาน ผู้ประกอบการควรเข้าใจว่าการเริ่มธุรกิจใหม่จำเป็นที่ต้องมีเงินทุนของตนเองให้เพียงพอในการลงทุนและต้องจัดโครงสร้างทางการเงินและโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อมีต้นทุนการเงินที่ต่ำจะทำให้เกิดผลกำไรต่อกิจการในภายหลังและไม่เป็นภาระของธุรกิจในการที่ต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ
ที่มา : https://bsc.dip.go.th/