แม้จะมีปริมาณมาก แต่ในเชิงการแข่งขันต้องยอมรับว่า ร้านค้าโชห่วยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถต่อกรกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้ อีกทั้งยังขาดการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ร้านค้าโชห่วยเริ่มมีการปรับตัวและพัฒนา เพื่อยกระดับตัวเองสู่การเป็นร้านค้าโชห่วยยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ปรับดีไซน์ให้ร้านค้าดูทันสมัยสะดุดตา เปลี่ยนระบบบริหารจัดการ จาก Manual สู่การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการธุรกิจ ตลอดจนใช้ช่องทางออนไลน์ สร้างโอกาสเพิ่มยอดขายและทำการตลาดให้มากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจจะเริ่มต้นทำร้านค้าโชห่วยยุคใหม่ แต่ไม่รู้ขั้นตอน กระบวนการในการขออนุญาตดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง SMEONE จึงสรุปแนวทางทางการเริ่มต้นร้านค้าโชห่วยมาให้รู้กัน
1.ศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจ
ในการเริ่มต้นร้านค้าโชห่วย ต้องเข้าใจก่อนว่าร้านค้าเหล่านี้มักจะเป็นการซื้อมาขายไปทั้งสิ้น ดังนั้นการเลือกสินค้าที่จะขายจึงมีความสำคัญ ควรที่จะเลือกสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค หรือกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยจะต้องติดต่อผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงผู้จัดส่งสินค้า ทั้งนี้ อาจต้องคำนึงถึงประเด็นของต้นทุนสินค้าที่ต่ำและมีเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจน้อย เช่น เงื่อนไขการชำระเงิน เงื่อนไขการส่งสินค้า เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความยืดหยุ่นและสามารถสร้างโอกาสทำกำไรได้เพิ่มขี้น
นอกจากนี้ การเลือกทำเลที่ตั้งร้านค้า เป็นอีกเรื่องที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี ควรเลือกทำเลร้านที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ง่าย ควรตั้งอยู่ในชุมชนหรือสถานที่ที่มีผู้คนผ่านไปมา เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
2.จดทะเบียนพาณิชย์ไม่ว่าธุรกิจใดก็ตาม แม้กระทั่งร้านค้าโชห่วย สิ่งสำคัญของการเริ่มต้นทำธุรกิจ คือ การทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการจดทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องปฏิบัติ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ทั้งในลักษณะของบุคคลธรรมดาเจ้าของคนเดียว หรือหลายคนรวมกันในลักษณะของนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด
ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มประกอบการ โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่ หากร้านค้าตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด (คลิก! ดาวน์โหลดเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์) หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
3.ขอใบอนุญาตจำหน่าย (กรณีขายสินค้าที่ต้องขออนุญาต)
ในการจำหน่ายสินค้านั้น จะมีทั้ง สินค้าที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตในการจำหน่าย เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป กับสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตในการจำหน่าย อันได้แก่ สุรา ยาสูบ และไพ่ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องกับกรมสรรพสามิต โดยสามารถติดต่อที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ /พื้นที่สาขา ที่ร้านค้าตั้งอยู่ หรือดำเนินการขอใบอนุญาตผ่านอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพสามิต (การขอใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่ ผ่านอินเทอร์เน็ต)
4.จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี)
สำหรับร้านค้าที่มีรายรับจากการขายสินค้าเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ผู้ประกอบการจะต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร โดยวิธีการจดทะเบียนนั้น สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และยื่นแบบคำขอโดยตรง ณ หน่วยจดทะเบียนที่ตั้งสถานประกอบการ หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ที่ร้านค้าตั้งอยู่ ส่วนที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ สามารถยื่นได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่ร้านค้าตั้งอยู่เช่นกัน โดยจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน (เอกสารใช้สำหรับจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
5.ขอใบอนุญาตติดตั้งป้ายและชำระภาษีป้าย
แน่นอนว่าร้านค้าปลีกหรือโชห่วย มักต้องมีป้ายร้าน เพื่อสร้างการรับรู้ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตกับสำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ร้านค้าตั้งอยู่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบว่าลักษณะป้ายปลอดภัยหรือไม่ และต้องชำระภาษีป้ายเป็นประจำทุกปีภายในเดือนมีนาคม
ทุกท่านเห็นแนวทางของการเริ่มต้นทำร้านค้าโชห่วยแล้วใช่ไหม การทำทุกอย่างให้ถูกต้องตั้งแต่ก้าวแรก ถือเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคตได้
ที่มา : www.smeone.info