วางแผนประกันธุรกิจอย่างชาญฉลาดทำได้อย่างไร

วางแผนประกันธุรกิจอย่างชาญฉลาดทำได้อย่างไร

 
วางแผนประกันธุรกิจอย่างชาญฉลาดทำได้อย่างไร
  
 
 

       “Prepare for the Worst, Plan for the Best: Disaster Preparedness and Recovery for Small Businesses.”  คือชื่อหนังสือของ Donna Childs ที่ว่าด้วยเรื่องของการเตรียมตัวของธุรกิจขนาดเล็กที่เมื่อต้องเผชิญกับอุบัติภัยที่ไม่ได้คาดคิดต่างๆ แล้วจะมีการเตรียมรับมือ และฟื้นฟูจากสภาพนั้นได้อย่างไร โดยในส่วนหนึ่งในหนังสือนั้นจะมีเรื่องของการทำประกันภัยธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งหลักการในการทำประกันภัยที่ว่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะประกันภัยที่ดีจะช่วยลดการสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติต่างๆ ละยังช่วยบรรเทาผลที่ตามมาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อรู้เช่นนี้แล้วลองมาวางแผนประกันภัยธุรกิจกันเลยดีกว่า

1. รู้จักกับประกันธุรกิจหยุดชะงัก


       ประกันภัยชนิดหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรรู้จักไว้ก็คือประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เพราะประกันชนิดนี้เป็นประกันที่จะชดเชยให้กับการเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินต่างๆ ที่ทำประกันภัยไว้ซึ่งผู้ที่ทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนั้นจะได้รับเงินทดแทนโดยที่คิดจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดจริงๆ ทั้งในทางตรง และในทางอ้อม

       ซึ่งข้อดีก็คือนอกจากประกันชนิดนี้จะชดเชยเงินในส่วนที่ทรัพย์สินเราเสียหายไปแล้ว ยังชดเชยครอบคลุมไปถึงการสูญเสียกำไรที่เป็นผลมาจากภัยพิบัติในช่วงที่บริษัทนั้นยังไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติอีกด้วย เช่น ถ้าสำนักงานธุรกิจของเราถูกไฟไหม้เสียหายจนไม่สามารถใช้ทำงานได้แล้วนั้น ทางประกันภัยก็จะชดเชยค่าเสียหายในส่วนของทรัพย์สินที่ถูกไฟไหม้ พร้อมทั้งชดเชยผลกำไรในช่วงที่เราไม่ได้ดำเนินงานด้วย ทำให้ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนั้นจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะสามารถฟื้นตัวจากภัยต่างๆ กลับมาได้เหมือนเดิมโดยที่ธุรกิจไม่เสียหายมากนัก

2. รู้มูลค่าของธุรกิจตัวเอง

       เป็นที่รู้กันว่าการทำประกันภัยนั้นคือสิ่งที่ใช้นำมาชดเชยทรัพย์สิน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือภัยพิบัติต่างๆ แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นใครล่ะที่จะรู้มูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงของเราดีเท่ากับตัวเราเองที่เป็นเจ้าของกิจการ แต่การรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ถ้าเราหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ก็คงไม่เกิดประโยชน์ นั่นหมายความว่าเมื่อเราทำประกันไว้นั้นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้อยู่เสมอคือมูลค่าขององค์กรตัวเองว่าเป็นเท่าไรในแต่ละปีและที่สำคัญนั้นคือเราจะหาอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันให้กับบริษัทประกันภัยได้บ้างว่าบริษัทของเรานั้นมีมูลค่าตามที่เราบอกจริงๆ      

       เพราะคงเป็นไปได้ยากที่บริษัทประกันนั้นจะยินยอมคืนเงินให้เราตามคำกล่าวอ้างแบบเต็มจำนวนโดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆ มาอ้างอิง โดยส่วนมากแล้วบริษัทประกันภัยนั้นก็มักจะประเมินค่าความเสียหายต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่เสมอ ดังนั้นการหมั่นเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อมาพิสูจน์ให้กับประกันภัยจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก โดยเอกสารที่สามารถใช้ได้เป็นอย่างดีอย่างหนึ่งก็คือพวกหลักฐานทางภาษีต่างๆ ที่จะคอยบอกว่าเรานั้นมีรายได้ที่แท้จริงเท่าไร หรือใบหักภาษีต่างๆ ในด้านค่าใช้จ่ายของบริษัทก็จะช่วยยืนยันถึงมูลค่าของทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ในองค์กรได้เป็นอย่างดี

3. อย่าประเมินมูลค่าทรัพย์สินตัวเองต่ำเกินไป

       ปกติแล้วเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับทรัพย์สินของเรา เวลาเราไปเรียกเงินประกันชดเชยเราก็มักจะคำนวณค่าเสียหายตามจริง โดยคิดจากราคาจริงๆ ของวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่สูญเสียไป เช่น ถ้าเฟอร์นิเจอร์ที่เราซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนมีมูลค่า 3 หมื่นบาท เราก็แจ้งกับทางประกันภัยว่าเราต้องการเงินชดเชยจากทรัพย์สินที่สูญเสียไป 3 หมื่นบาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนี่คือวิธีที่ผิด 

       ทำไมวิธีนี้ถึงทำให้เราไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่? คำตอบก็คือเพราะวัสดุ อุปกรณ์ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เราซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนนั้นอาจมีมูลค่าที่สูงขึ้นกว่าเดิมในปัจจุบันก็ได้ สิ่งที่ควรทำคือหมั่นตรวจเช็คราคาตามท้องตลาด หรือตามเว็บไซต์ที่มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อหามูลค่าของเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือแม้แต่ตัวอาคารนั้นมีราคาเท่าไร เพื่อนำไปยืนยันกับทางประกันภัยให้ชดเชยค่าความเสียหายให้เราได้รับผลประโยชน์ได้มากขึ้น

4. ให้ประกันภัยธุรกิจเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจของเรา

 
       ผู้ประกอบการหลายคนอาจเคยพึงพอใจกับรูปแบบของประกันธุรกิจที่เคยทำเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน จนไม่เคยคิดที่จะสนใจประกันเหล่านี้อีก เพราะเห็นว่ามีประกันคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจของเรานั้นก็ต้องมีการขยับขยายและเติบโตขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน ประกันที่เคยทำเอาไว้อาจไม่ได้คุ้มครองครอบคลุมทุกอย่างเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว อย่างเช่นจากสำนักงานที่เคยเป็นเพียงห้องแถวหนึ่งห้องก็อาจจะต้องขยายไปเป็น 2-3 ห้อง ซึ่งประกันภัยที่เราเคยทำไว้เมื่อหลายปีก่อนอาจมีการคุ้มครองแค่อาคารแรกเพียงเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประกันภัยตามไปด้วยอยู่เสมอ เพราะประกันภัยที่เราเคยทำไว้ในอดีตอาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจในปัจจุบันของเราเสมอไป

       หลายต่อหลายธุรกิจต้องพบกับความสูญเสียมากมายเนื่องจากมองข้ามความสำคัญของการทำประกันภัยธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย ถึงแม้ว่าการทำประกันภัยนั้นอาจดูเหมือนเป็นการเสียเงินเปล่าเมื่อไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นก็จริง แต่เราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ถึงเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอนาคตข้างหน้า เหมือนอย่างที่กรุงเทพมหานครยังสามารถเกิดน้ำท่วมขึ้นมาได้เลย ดังนั้นเงินในส่วนนี้ไม่ใช่เงินเสียเปล่าแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อความมั่นคง และความมั่นใจให้กับองค์กรของเรา เผื่อว่าวันใดเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นมาจริงๆ ธุรกิจเราก็จะยังสามารถดำเนินต่อไปได้แบบไม่ติดขัด หรือถึงขั้นปิดกิจการอย่างแน่นอน




ที่มา : INCquity

 1314
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์