ไต้หวัน คือประเทศของเอสเอ็มอี พวกเขาสร้างมนุษย์พันธุ์ไอที เป็นจอมยุทธ์ไปบุกตลาดโลก ด้วยอาวุธ “Innovalue” สินค้านวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
ท่ามกลางการโปรโมท สนับสนุน ผลักดันสินค้าโอทอปไทยในทุกวิถีทาง เพื่อให้มีพื้นที่แจ้งเกิดและฝากความหวังว่าสักวันจะแข็งแกร่งพอไปสู้รบได้ในตลาดโลกได้
แต่กับประเทศที่ชื่อ “ไต้หวัน” ตลอด 30 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาสร้าง คือ “มนุษย์พันธุ์ไอที” นักสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรมให้ระเบิดไอเดียอยู่ทั่วประเทศ จนในวันนี้หลายรายผงาดเป็นจอมยุทธ์ พร้อมนำพาแบรนด์ไต้หวันได้แจ้งเกิดในตลาดโลก
“ที่ไต้หวัน เราบุกตลาดต่างประเทศโดยใช้เอสเอ็มอี ซึ่งเอสเอ็มอีของไต้หวัน มีบุคลิกที่แตกต่าง เพราะเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี โดย 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมให้เด็กๆ มีความสนใจและอยากเรียนไอที สนับสนุนด้านการวิจัยพัฒนา(R&D) การศึกษา และเงินทุน จนวันนี้ธุรกิจไอทีของไต้หวันมีความโดดเด่นและเติบโตอย่างมาก”
“เฮนรี่ หมิง-เจง เฉิน” ตัวแทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย(TECC) ฉายภาพเอสเอ็มอีแบบไต้หวัน ที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างมากในวันนี้ ซึ่งหลายแบรนด์คนไทยก็คุ้นเคยดี อย่าง Acer ผู้นำตลาดโน๊ตบุ้คในไทยที่กินส่วนแบ่งตลาดถึง 33% ในปีที่ผ่านมา HTC สมาร์ทโฟนที่กำลังรุกตลาดอย่างหนัก ขณะที่ ASUS ก็มีเหล่าสาวกที่นิยมชมชอบอยู่ไม่น้อย ตลอดจน Trend Micro, Giant, Merida, D-Link และ Transcend เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นแบรนด์ของไต้หวัน
เพราะมองเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมไอซีที ในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันจึงค่อยๆ พัฒนาตัวเองจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) มาสู่ผู้ผลิตที่สามารถพัฒนาดีไซน์ และรูปแบบสินค้าได้เอง (ODM) จนในวันนี้ก็กลายเป็นผู้ผลิตที่มีการสร้างแบรนด์ของตัวเอง (OBM) ในระดับโลกได้
นายเฮนรี่ บอกว่า ธุรกิจไอทีในไต้หวัน ก็ไม่ต่างจากสินค้าโอทอปของไทย เพียงแต่ไทยอาจเน้นงานหัตถกรรม แต่ไต้หวันมุ่งไปที่สินค้า “นวัตกรรม”
“ในไทยมีโอทอปเยอะแยะไปหมด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าหัตถกรรม ที่ไต้หวันโอทอปของเราคือสินค้าเทคโนโลยี เรียกว่าไม่ใช่ OTOP แต่เป็น Intelligence TOP เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม”
การเติบโตของแบรนด์ไอทีในไต้หวัน เกิดจากการสนับสนุนและร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน เขายกตัวอย่างการให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา เพื่อก่อเกิดนวัตกรรมแบบไต้หวัน และบริการสู่ภาคเอกชน โดยมีหน่วยงานอย่าง Industrial Technology Research Institute (ITRI) แห่งไต้หวัน เป็นหัวหอกสำคัญ ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของไทย
ขณะที่รัฐบาลไต้หวัน ให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน การตลาด แต่ที่ให้น้ำหนักเอามากๆ ก็คือ การวิจัยและพัฒนา
สิ่งที่ทำไปคู่กันตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ยกระดับสินค้าไต้หวันให้เป็นงานนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก โดยส่งเสริมให้ผู้ผลิตสร้างในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “Innovalue” คือการผนวก “Innovation” เข้ากับ “Value” ในทุกสินค้าและบริการ โดยสิ่งที่ทำสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 คือให้รางวัล “Taiwan Excellence” สำหรับแบรนด์ที่โดดเด่นทั้งด้าน การวิจัยและพัฒนา (R&D) การออกแบบ คุณภาพ และการตลาด โดยต้องผลิตขึ้นในไต้หวันเท่านั้น จากนั้นก็นำทัพจอมยุทธ์เหล่านี้ไปโปรโมทในตลาดโลก
“เอลิน่า ฮุย-ลิง ลี” ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การตลาด สมาคมพัฒนาการค้าต่างประเทศของไต้หวัน บอกเล่าเกมรุกนอกบ้านแบบไต้หวัน ในงานเปิดตัวแคมเปญ Taiwan Excellence ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย หลัง 3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้นำทัพแบรนด์นวัตกรรม ทั้งกลุ่มสินค้าไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์กีฬา และสินค้าเพื่อสุขภาพ ไปเปิดตัวในหลายประเทศ อย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และจีน
การรบนอกบ้านของไต้หวัน เน้นกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ หรือ IMC (Integrated Marketing Communication) ขณะที่การลงพื้นที่โปรโมทในแต่ละประเทศ ก็ไม่ได้มุ่งเพียงแค่เพื่อผู้บริโภคปลายทางเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้มาเจอกันอีกด้วย
“เราไม่ได้เน้นแค่ B2C (Business-to-Consumer) แต่การไปโปรโมททุกครั้งจะเน้น B2B ด้วย (Business-to-Business) เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้เจอกัน ไม่ว่าจะไปที่ไหนเราจะหาโอกาสทั้งการขายและพันธมิตรเสมอ”
แม้จะโดดเด่นในธุรกิจไอที แต่พวกเขาก็ไม่ได้อยากจำกัดตัวเองเพียงแค่นั้น ที่ผ่านมาจึงมุ่งพัฒนา “พระเอก” ในหลายๆ ด้าน ทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จักรยาน เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ตลอดจนเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม
“อุตสาหกรรมจักรยานของไต้หวันก็อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก โดยไต้หวันเป็นผู้ส่งออกจักรยานเกือบ 4.5 ล้านคัน ในปี 2555 มีแบรนด์ชั้นนำ อย่าง Strida และ Speed one ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และของตกแต่งบ้านของไต้หวันก็เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมานาน หรือ เครื่องวัดความดันโลหิตจาก Microlife วีลแชร์จาก Karma และเครื่องกรองน้ำ Cashido& Chanson เหล่านี้ก็ล้วนได้รับความนิยมในตลาดโลก” เธอยกตัวอย่างความสำเร็จของแบรนด์ไต้หวันที่กำลังสยายปีกในตลาดโลก
ไต้หวันไม่ใช่ประเทศที่ห่างเหินกับไทย ในปี 2555 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของไต้หวัน ด้วยมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.26 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2556 นี้ การส่งออกจากไทยสู่ไต้หวันมีมูลค่า 2.18 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนการส่งออกจากไต้หวันสู่ไทย มีมูลค่า 3.82 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไต้หวันในกลุ่มประเทศอาเซียน และ ไต้หวันเป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอันดับ 3 ของไทย ถึงปัจจุบันนักลงทุนจากไต้หวัน มีมูลค่าการลงทุนในไทยรวมกว่า 13.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ มีบริษัทไต้หวันกว่า 5,000 บริษัททำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งกลุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์ เหล็ก เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ
ความหวังที่ตัวแทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย(TECC) บอกกับเรา คือ ยังอยากเห็นการทำ ข้อตกลงทางการค้าเสรี(FTA) ระหว่างไทยกับไต้หวัน ที่เขามองว่าจะสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านการค้า การบริการ และการลงทุน โดยจะช่วยให้สินค้ามีความหลากหลายขึ้น การบริการที่ดี ขณะที่การลงทุนก็จะกว้างมากขึ้นด้วย
“ประเทศไทยกับไต้หวันมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมเกษตร การประมง ซึ่งวันนี้น่าจะขยายไปยังธุรกิจไอทีและอื่นๆ ได้อีกมาก อย่างประเทศไทยวันนี้ค่าแรงแพง คนงานหายาก ธุรกิจที่ยังใช้แรงงานหนักจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งไต้หวันมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีและพร้อมช่วยเหลือไทยได้ในเรื่องนี้”
เขาบอกการขยายความร่วมมือสู่การแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีระหว่างไทยกับไต้หวันในอนาคต เพื่อบทสรุปของความแข็งแกร่งที่จะ วิน-วิน ร่วมกันทั้งเราและเขา
..................................................
Key to success
สูตรรบนอกบ้าน ของแบรนด์ไต้หวัน
๐ สร้างมนุษย์ไอที พัฒนาสินค้าบุกตลาดโลก
๐ สนับสนุนทั้งการศึกษา เงินทุน การวิจัย
๐ เน้นสินค้านวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
๐ สร้างแบรนด์ในตลาดโลกใช้กลยุทธ์ IMC
๐ ไม่เก่งแค่ไอทีพร้อมสร้างพระเอกด้านอื่นด้วย
บทความโดย : เอลิน่า ฮุย-ลิง ลี Taiwan Excellence