เรื่องสตีฟ จ๊อบอยู่ในความสนใจของผู้คนในวงกว้างมากขึ้น รู้ว่าเขาเป็นชาวพุทธ กินมังสวรัติ แต่งตัวเท่ห์ ๆ เสื้อยืดสีดำ กางเกงยีนส์ลีวาย ไม่ใส่สูทเหมือน CEO ทั่ว ๆ ไป และที่โด่งดังมากก็เห็นจะเป็นคำกล่าวปัจฉิมนิเทศ ที่สแตนฟอร์ด โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า “Stay hungry, Stay foolish” ให้เรามีความกล้าที่จะวิ่งตามความฝันและลางสังหรณ์ของเรา เพราะมันคือสิ่งที่เราต้องการที่จะเป็น โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบการกล่าวและมุมมองที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาที่สุดยอดที่สุดของ CEO คนใด ๆ ที่ผมเคยฟังมา เขาเกิดมาแต่พ่อแม่ต้องยกให้คนอื่น ไม่มีเงินต้องเก็บขวดโค้กไปแลกเงินหรือต้องเดินกลับไปที่โบสถ์กว่า 7 ไมล์เพื่อขออาหารจากโบสถ์ เขาเล่าถึงเหตุการณ์วิกฤต 3 ช่วง วิกฤตครั้งแรกของเขาคือการตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยที่ไม่รู้ว่าจะเสียเงินแพง ๆของพ่อแม่บุญธรรมไปเรียนในสิ่งที่ไม่สนใจทำไม ครั้งที่สองการถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองเป็นคนตั้งขึ้นมากับมือ ซึ่งได้บทเรียนและทำให้เขาเติบโตขึ้นมาก วิกฤตครั้งนี้ทำให้สตีฟ จ๊อบส์ ได้ทบทวนตัวเอง และนำประสบการณ์มาใช้ในการบริหารในช่วงถัดมา และครั้งสุดท้ายจากการเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน ความตายให้บทเรียนทางด้านจิตวิญญาณแก่สตีฟ จอบส์ อย่างมาก
วันนี้เลยอยากพูดถึงสตีฟ จอบส์ ในฐานะของความเป็นผู้นำที่ใคร ๆ ก็ยกย่องว่าเป็นสุดยอดผู้นำในยุคนี้ ได้รับการโหวตจากพนักงานสูงสุด 97 % ว่าเป็นสุดยอด CEO และเขาเองก็สร้าง Branding ใหม่ในแอปเปิลอิงค์ โดยเรียกว่า iLeadership จอบส์มีอะไรที่โดดเด่นจนใครบางคนบอกว่าเขาเป็นศาสดาและมีสาวกมากมายที่พร้อมจะเดินตามเขา เรามาดูภาวะผู้นำของเขา
1. สิ่งแรกที่เห็นเด่นชัดมากคือ เขามีวิสัยทัศน์และแรงบันดาลใจในตัวเองสูงมาก ต้องยอมรับกันว่าเกือบทุกคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความคิดของจอบส์ จะรู้สึกได้ว่ามันเป็นมากกว่าเครื่องมือ หลายคนหยิบ iPhone ออกมาไม่ใช่เพื่อใช้เท่านั้น แต่เพื่ออวดคนอื่นด้วย หยิบ iMac iPhone iPad ออกมาให้เห็น มันดูเหมือนจะเป็นมากกว่าคอมพิวเตอร์หรือมือถือเท่านั้น มันเปรียบเหมือนตัวกำหนดสถานะภาพทางสังคม กำหนดรสนิยม มันเป็นความภูมิใจ บ่งบอกว่าคนที่มีมันเป็นพวกพิถีพิถัน มีเกรด มันเป็นเหมือนนาฬิกา Rolex ที่เป็นมากกว่านาฬิกา เหมือนขับรถ Benz ใคร ๆ ที่พบเห็นก็จะแอบนิยมอยู่ในใจว่าคน ๆ นี้ไม่ธรรมดา (คงไม่เว่อร์เกินไป ผมเห็นเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็ทำตัวแบบนี้) สิ่งนี้มันจากแรงบันดาลใจที่ไม่ธรรมดาของเขา
สตีฟ จอบส์ เป็นพวกที่หลงใหล (Passion) คลั่งไคล้ ในอะไรบางอย่าง เขาก็จะสุด ๆ กับมัน กระหายที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่เขาเชื่อว่าจะต้องเจ๋งสุด ๆ นับตั้งแต่ที่เขาไป PARC ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของ ซีร๊อก พาร์ค และเห็นนวตกรรมที่จะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของเขา ความกระตือรือร้นของเขาเหมือนเห็น “นิมิต” ฟังดูแล้วเห็นภาพสำหรับคนที่มีพลังภายในมาก ๆ เขาเชื่อมโยงต่อมาสู่คอมพิวเตอร์ และเห็นภาพที่คนทั่วไปจะได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สุดเจ๋งนี้ พลังในการเห็นอนาคตหรือที่เรียกว่าเห็นนิมิตนี้ ทำให้รู้ว่าผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์แบบนี้ หากผู้นำในองค์กรใดเห็นอะไรแบบนี้เขาจะเอาชีวิตเข้าแลก เดินหน้าลุย เหมือนสตีฟ จอบส์
วิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ จอบส์คิดว่าจะดึงฐานผู้ใช้จาก Window ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มใหญ่ ให้มาสู่ตลาดเฉพาะ (Niche Market) ของเขาได้อย่างไร เขาค่อย ๆ สร้างจากคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมที่เน้นสำหรับคนที่ต้องการความสวยงาม ประณีต มีความแตกต่างจาก window ซึ่งเป็นจุดเด่นของตัวเขา และเขาเชื่อว่าคนจะเห็นถึงอัจฉริยะด้านนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่จอบส์พูดเสมอว่าทำสิ่งที่คุณรัก เขารักการออกแบบ รักความเรียบง่าย เขาไม่เหมือนวิศวกรที่ทื่อ ๆ หัวสี่เหลี่ยม แต่เขามีอารมณ์ artist เขาผสมผสานสิ่งนี้ได้ ผู้บริโภคอีกระดับที่พิถีพิถันจึงหันมาใช้ Mac และสิ่งที่ตัวเขาเองหลงใหลในการดูภาพยนตร์ ดนตรีและเพลง (โดยเฉพาะบ๊อบ ดีแล่น) แฟชั่นความสวยงาม กล้องถ่ายรูปที่เป็นระบบ digital ที่ละเอียด เกมส์ และมือถือ ทุกอณูที่มนุษย์ต้องการ เขานำมันมาสู่ iPhone iPad ที่มีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน ใช้ง่าย จนสั่นสะเทือนวงการ Smart Phone จนถึงปัจจุบัน
การเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ทำให้เขามีความเชื่อมั่น (อาจถึงขั้นเคยดื้อรั้น หรืออวดดี) มีบุคลิกที่โดดเด่น ทุกครั้งที่เขาปรากฏตัว เขามีความน่าเชื่อถือ เพราะเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการผลิตที่มีความสำคัญ การนำเสนอของเขานั้นดึงดูดผู้ฟัง รู้ว่าต้องเสนออะไร ง่าย ๆ ใช้เวลาไม่มาก มันได้ฟิลลิ่ง เพราะเขาเดาใจผู้บริโภคได้ว่าต้องการฟังอะไร ตัวเขาจึงเป็นตัวการันตีคุณภาพของสินค้าได้ เขาคือ Brand ของแอปเปิล สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เวลาทำงานต้องทุ่มเท เป็นคนทำงานหนัก ลุย เอาชีวิตเข้าแลก ฝ่าฟัน ลงมาดูในรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ปล่อยผ่าน ใน iPod iPhone iPad ต้องไม่มีอะไรสูญเปล่า ทุกเมนูต้องเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เกินความจำเป็น ไม่ยัดเหยียด ทำในสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน ต้องใช้ความพยายามสูง แต่ต้องสวยงาม คนใช้ภูมิใจ ตั้งโชว์ได้ เขาสร้าง Brand และ Gimmick เพื่อให้คนจดจำ iPhone iPad หรือแม้แต่ iLeadership ก็ยังทำให้แตกต่างขึ้นมาได้ จะว่าไปแล้ว จอบส์เป็นทั้งนัก IT นักการตลาด นัก PR นักบริหาร นักขาย ครบทุกรสชาติ มีผู้นำจำนวนมากที่ไม่เคยลงรายละเอียดงานกับลูกน้อง เห็นได้จากตอนนำเสนอ ต้องพาคนมาเป็นกระบุง บางทีถูกซักเรื่องง่าย ๆ ก็ตอบไม่ได้ บางคนก็พูดวนไปมาจนสับสน แสดงถึงการไม่ลงมือทำงานหนักมาตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้
2. เขาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ ทุกวันนี้เราทำอะไรด้วยตัวคนเดียวไม่ได้หมด เราต้องอาศัยทีมงาน ทีมงานของเราก็ต้องเดินตามในทิศทางเดียวกัน ต้องศรัทธาในตัวเรา มองไปที่เดียวกัน สำหรับสตีฟ จอบส์แล้ว เขาเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้เสมอ พิสูจน์ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ฟังการกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง ๆ ก็ตรึงตาตรึงใจอย่างมาก จนบางทีเรายังอยากกระโจนไปทำงานกับเขา ภาพลักษณ์ของเขานั้นก็สุดแสนจะเท่ห์และน้อยคนนักที่จะทำได้เหมือนเขา ทุกครั้งที่เขาปรากฎอยู่หน้าเวทีในการแนะนำผลิตภัณฑ์จะเป็นข่าวไปทั่วโลก แม้ร่างกายจะผ่ายผอมลง แต่เสื้อยืดสีดำ สวมแว่นตากลม ๆ ก็ทำให้เขาดูสมาร์ท เขาโน้มน้าวผู้สื่อข่าว และผู้บริโภคด้วยภาษาที่ให้ความรู้สึกและง่ายต่อความเข้าใจ จอบส์เป็นผู้นำที่มีพรสวรรค์ในการโน้มน้าวผู้อื่น เป็นนักปาฐก พูดให้ผู้อื่นเห็นภาพ มีกำลังใจ มีแรงฮึกเฮิม ประโยคที่เขาบอกทีมงานว่าเรากำลังจะทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ “จะทำให้จักรวาลบุ๋มลงไปเลย” มันทำให้เกิดแรงฮึกเหิมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลก ตอนที่ไปชักชวนจอห์น สคัลลี่ย์ CEO ของเป๊ปซี่มาร่วมงาน เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายจะปฏิเสธ เขาจะบอกว่า "คุณต้องการจะใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ไปกับการขายน้ำหวาน หรือว่าต้องการโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้กันแน่?" ก่อนที่จอห์น สคัลลี่ย์จะตัดสินใจมาร่วมงานกับแอปเปิล ซึ่งเล็กกว่าเป๊ปซี่มากในช่วงนั้น
เขาสร้างบรรยากาศให้การทำงานมีความกระตือรือร้น ด้วยการสร้างแรงกดดันเล็ก ๆ แม้บางคนบอกว่าเขาพูดจาไม่สุภาพ ไม่ถนอมน้ำใจคน แต่ก็ได้ผลงาน คนส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีม เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์จริง ๆ ก็ตอนทำงานกับจอบส์นี่แหละ ผมเห็นว่าการที่จะทำงานให้ได้ดีนั้น การสร้างแรงกดดันเล็กๆ เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ผู้นำควรต้องทำ เพื่อสร้างความท้าทายขึ้นอีกระดับ และแน่นอนที่อาจพลาดพลั้งเรื่องคำพูดบ้าง แต่ก็รับได้ เพราะการกระตุ้นเร้าบางทีก็ต้องท้าทายให้เขาออกมาจาก comfort zone เหมือนตอนที่สตีฟ จอบส์ ยืนกรานให้เปลี่ยนจากการใช้เม้าส์มาใช้มือ เปลี่ยนจากการมีปุ่มโทรศัพท์มาก ๆ ให้มีแค่ปุ่มเดียว ซึ่งสร้างความเครียดให้วิศวกร แม้วิศวกรจะมีเหตุผลมากมายที่ว่าทำไม่ได้เพราะอะไร แต่สตีฟก็อาจพูดบางอย่างที่ไม่สุภาพ เขาแสดงฟิลลิ่งให้เห็น หรือใครอธิบายอะไรที่ไม่เข้าท่า เขาจึงพูดว่า “ That’s shit” แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่สุภาพหรือต้องการด่าคุณ แต่ต้องการให้มันเข้าท่ากว่านี้ ผมนั้นเข้าใจว่านักสร้างแรงบันดาลใจมักจะมีอะไรที่ทำให้เกิดฟิลลิ่งแรง ๆ แบบนี้บ้าง แม้แต่นักพูดที่สร้างแรงบันดาลใจอย่าง Antony Robbins หรือ วิทยากรของ Landmark Forum หลายคนก็ต้องใช้คำแรง ๆ บ้าง เพื่อกระตุ้นให้คนเห็นภาพและอธิบายบางสิ่ง ที่พวกพื้น ๆ ก็อาจจะติดกับดักเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้ หาว่าเขาดูถูกเรา คิดเล็กคิดน้อย แต่แน่นอนที่พวกคิดเล็กคิดน้อยก็อาจต้องเดินจากไป
3. ผู้นำต้องเน้นสร้างผลงาน "ศิลปินที่แท้จริงต้องส่งงาน" สตีฟ จอบส์ผลักดันทีมงานเพื่อสร้างผลงานออกมาเป็นระยะ แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันกับความคิดเห็นและความขัดแย้งมากมาย เขามีผลงานออกมาเป็นระยะ นับตั้งแต่ AppleI, II iTunes iPod iMac iPhone 3 4 4S iPad 1, 2, 3 และเมื่อมาอยู่ที่ NeXT Pixar ก็ร่วมกับวอล์ดีสนีย์สร้างภาพยนตร์ Animation ที่แสดงสีหน้าของตัวละครได้และมีความยาวเหมือนภาพยนตร์ทั่วไปได้เป็นครั้งแรก อย่าง "ทอย สตอรี่" "ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์" "นีโม่...ปลาเล็กหัวใจโต๊...โต" "Cars2" เขาทำสิ่งใหม่ ๆ สร้างความตื่นเต้น ไม่หยุดอยู่กับที่ มีนวัตกรรมออกสู่ตลาดเสมอ เขาเน้นการทำงานที่แตกต่าง นำศักยภาพคนทำงานออกมาใช้อย่างเต็มที่ เปรียบคนทำงานของเขาเหมือน “โจรสลัด” ที่ต้องเน้นผลลัพธ์ให้ได้ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน เขาไม่อยากให้พนักงานเป็นเหมือนนายทหารเรือที่เน้นกฏเกณฑ์ระเบียบวินัยมากเสียจนไม่มีผลงานใด ๆ เขาจึงให้อิสรภาพแก่ทีมงาน ทีมงานต้องไม่ใหญ่เกินไปเพื่อไม่ให้มีขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน ติดขัดที่การสื่อสาร เพราะเขาต้องการไอเดียและการทำงานที่รวดเร็ว หลายครั้งที่เขาต้องเข้ามาก้าวก่ายเพื่อทำมันให้ได้
เมื่อรับรู้ถึงสิ่งที่จ๊อบส์ทำ ก็ทำให้นึกถึงบริษัทที่ผมเคยไปเป็นที่ปรึกษา เชื่อไหมว่าเรื่องที่นำเสนอบอร์ด หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ในทางปฏิบัติจริง เรื่องไปไม่ถึงไหน ทั้ง ๆ ที่ไอเดียดี เห็นพ้องต้องกัน บอร์ดสนับสนุน แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติใด ๆ มีแต่การรายงานผลที่สวยหรู และบอร์ดก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ ว่ามันเวิร์คหรือเปล่า เหตุผลที่สำคัญก็เพราะผู้นำไม่ลงมือหรือเข้ามาติดตามอย่างจริงจังนี่เอง ผมเห็นชัดเจนว่าผู้นำหลายคนก็เก่งแต่ที่ประชุม สร้างภาพ หรือเอาแต่เหตุผลเข้าข้างตัวเอง และยิ่งเจอผู้นำที่เหมือนอยู่ในระบบราชการด้วยแล้ว .. ไม่ต้องพูดถึง พวกนี้จะมีเหตุผลร้อยแปดเพื่อที่จะไม่ต้องออกแรงทำ คนพวกนี้รอเพียงการเลื่อนตำแหน่ง-ขึ้นเงินเดือนดี ๆ (และแปลกเสียด้วยที่พวกแบบนี้ กลับก้าวหน้าขึ้น แสดงว่าหัวหน้าของพวกนี้ก็ไม่ลงมือมาทำงาน จึงไม่รู้ว่าพวกนี้ไม่ออกแรง สรุปว่าเป็นตั้งแต่หัวเลย) เมื่อผู้นำไม่เข้ามาลงมือ ตามงาน จี้งาน ไม่เอาจริง เกรงใจ ก็อย่าหวังว่าพนักงานจะทำ และเมื่อได้พวกไม่มีฝีมือขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ก็คิดว่าเอาว่าองค์กรจะไปได้แค่ไหน... มันยากมากน่ะ ต่อให้ไปหาเด็กใหม่ ๆ ที่เจ๋ง ๆ มาเสริมทีม ถ้าได้ผู้นำที่มือไม่ถึง ก็ทำให้เด็กใหม่ ๆ พวกนี้เป็นของเสียได้เหมือนกัน
เทคนิคหนึ่งที่ สตีฟ จอบส์ใช้ ก็คือการประชุมติดตามงานอย่างจริงจัง ทุกสัปดาห์ ลงมาคลุก มีการจัดสัมมนานอกสถานที่ในทุก 3 เดือน ครั้ง 3 วัน เพื่อบอกกล่าวถึง vision mission value เน้นว่า ต้องกล้าแหกกฎ ออกนอกกรอบเพื่อนำสิ่งดี ๆ มาสู่ผู้บริโภค ทีมงานต้องช่วยเหลือกัน เน้นและย้ำที่ผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นการนำคนจากทุกฝ่ายมาพบกัน สร้างความรู้สึกเป็นทีม แจกเสื้อทีม แก้วน้ำ นอกจากนี้ในช่วงการทำงานนั้นบางทีจอบส์ก็โผล่ไปหาอย่างไม่รู้ตัว ทำให้นักวิจัยของเขา ต้องนั่งในห้องทดลอง จดจ่อ ทุ่มเท รวบรวมทีม เพื่อทำมันให้ได้ ผมเชื่อว่าถ้าผู้นำเอาจริง แม้ขณะที่ทำงานจะเหนื่อยล้า เซ็งเพราะถูกจี้งานบ่อย ๆ ก็ยังดีกว่าผู้นำที่เกรงใจ ไม่กล้า กลัวลูกน้องไม่รัก เพราะเมื่อผ่านความเหนื่อยยาก พวกเราจะรู้ว่าเวลาที่ผ่านมามันมีคุณค่า ความยากลำบากและมาตรฐานที่สูงขึ้นแหละที่จะเป็นตัวผลักดันศักยภาพของตัวคนออกมา และเมื่อเราผ่านมันมาด้วยกัน เวลาที่เราฉลองกัน มันจะเป็นอะไรที่ภาคภูมิใจมาก จะไม่เหมือนองค์กรที่ผมเคยทำงาน ฉลองกันอยู่เรื่อย แต่ไม่ได้ความภาคภูมิใจอะไรจริง ๆ เลย ขึ้นเงินเดือนก็แค่เวียน ๆ กันไป พวกที่ได้เลื่อนตำแหน่งก็แค่เข้ากับหัวหน้าได้หรือไม่ก็อยู่มานานแล้ว แต่ฝีมือการบริหารเป็นที่เอือมระอา บางคนถึงขั้นขี้เกียจผลักงานให้ลูกน้องเสมอ ไม่เคยเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หัวหน้าระดับบนก็ไม่รู้อะไรรอแต่รับรายงาน แทงบันทึกหรือการนำเสนอเท่านั้น ไม่รู้ว่าพวกนี้ฝีมือเป็นอย่างไร ยากมากที่องค์กรแบบนี้จะสร้างจิตวิญญาณการทำงานแบบสร้างผลงานอย่างกระตือรือร้นร่วมกัน
ผมชอบ Gimmick ของจ๊อบที่เขาสร้างบรรยายกาศในการทำงาน ในที่ทำงานยังมีเปียโน วิดีโอเกม ตู้เย็นและน้ำผลไม้แช่ไว้ตลอดเวลา เขาให้พนักงานใส่เสื้อ “May 1984” เพื่อกระตุ้นเร้าให้รู้ว่าเราจะต้องออกผลิตภัณฑ์ Mac ให้ได้ตามเส้นตายที่วางไว้ มีเสื้อแจกกว่า 100 แบบมาแล้ว แจกผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเป็นผู้ผลิตให้พนักงานได้ใช้และซึมซับในความเป็นเจ้าของ มีการเซ็นชื่อผู้ร่วมผลิตภายในอุปกรณ์ที่นำออกจำหน่าย ฯลฯ มันสร้างบรรยากาศให้รับรู้ว่า พวกเรารับผิดชอบและภูมิใจที่ได้สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา ผมเพิ่งกลับจากการบรรยายที่ Symphony บริษัทดูแลเครือข่ายระบบการสื่อสาร ในห้องพักพนักงานมีไอศกรีมให้ทานด้วย มีเงินให้คนละ 300 บาท/เดือน เพื่อไปสังสรรค์ ฯลฯ บริษัทเล็ก ๆ แบบนี้และรบแบบโจรสลัดแบบนี้ เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจึงโตแบบก้าวกระโดด ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศให้น่าทำงานและสร้างผลงานที่ดี
4. ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจและต้องสร้างมาตรฐานให้สูงขึ้น ๆ จุดเด่นของจอบส์นั้น เขาไม่เคยพอใจกับสิ่งที่ทำได้ เขาจะยกระดับมันให้ดีขึ้นเสมอ เมื่อสตีฟ จอบส์ออกจากแอปเปิลนั้น ที่แอปเปิลออกผลิตภัณฑ์ได้น้อยลงมาก เหตุผลหนึ่งก็คือ ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ ไม่มีใครบอกว่าจะเอาอย่างไง พูดง่าย ๆ ก็คือไม่มีใครฟันธง ซึ่งผมฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้ม ๆ เพราะองค์กรที่ขาดผู้นำที่กล้าตัดสินใจเป็นแบบนี้แทบทุกแห่ง จะริเริ่มโครงการอะไรใหม่ ๆ ใคร ๆ ก็ว่าดี แต่พอถึงคราวที่จะลงมือ กลัวงานเข้า ไม่มีเวลาบ้าง ฝ่ายอื่นไม่ให้ความร่วมมือบ้าง ขาดคนทำงานบ้าง ฯลฯ สารพัดเหตุผล สุดท้ายก็ประชุมวนไปมา แล้วก็มีเรื่องอื่น ๆ มาแทรก พอเกิดปัญหาก็ถามถึงโครงการนี้ไปถึงไหนแล้ว โอ้..พระเจ้า แล้วก็ประชุมไปเรื่อย ... ในการนำองค์กรเราต้องอาศัยผู้นำที่กล้าที่จะตันสินใจ กล้าที่จะลองถูกลองผิดบ้าง เพราะหนทางข้างหน้าบางเรื่องเราก็ไม่เคยทำ แต่เชื่อเถอะ... มันต้องได้ประโยชน์บ้าง ดีกว่าไม่ทำเลย สตีฟ จอบส์ เจอวิกฤตตั้ง 3 ลูกใหญ่ ทั้ง 3 ครั้งแม้จะไม่น่ารื่นรมย์เท่าไร แต่เขาก็ได้บทเรียนมากมาย จนเราได้ฟังสุนทรพจน์ที่สุดแสนจะเยี่ยมยอด และตัวสตีฟ จอบส์ ก็มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สุขุม เยือกเย็นและได้นำบทเรียนต่าง ๆ มาต่อยอดเมื่อกลับมาทำงานที่แอปเปิลอีกครั้ง
พูดถึงตรงนี้ก็นึกถึงการที่จะไปร่วมบรรยาย Leadership Program ที่ Michelin รุ่นที่ 4 ในวันพรุ่งนี้ซึ่งเน้น 10 Principles ของผู้นำ ตัวแรกเลยคือ การยกระดับมาตรฐานการทำงานให้สูงขึ้น ผู้นำต้องลงมือ บอกทิศทาง บอกความคาดหวัง ถ้าเราไม่บอก พนักงานจะรู้ได้อย่างไรว่าระดับไหนที่เราต้องการ และที่สำคัญคือต้องลงไปดู เหมือนกับลงไปจี้นั่นแหละ แต่ใช้ศิลปะเสียหน่อย ผลงานต้องดีขึ้นอีกนิด ๆ ๆ ๆ ทุกวัน (Stretch) การที่เราจะยกระดับขึ้นได้ ต้องสร้างมุมมองว่าสิ่งที่เป็นอยู่ยังไม่ดีพอ ต้องดีกว่านี้อีก ญี่ปุ่นเรียกว่า Kaizen ฝรั่งเรียกว่า Continuous Improvement ผู้บริหารที่ผมไปเป็นที่ปรึกษาชอบถามผมว่า บริษัทของเขาไม่ดีหรือ อาจารย์ถึงได้ต้องการให้เขาปรับปรุง อย่างนี้แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องมาตรฐานที่ต้องสูงขึ้นตลอดเวลา อยากอยู่ใน comfort zone กับผลประกอบการเก่าๆ ที่ไม่มีอะไรแน่นอนในอนาคต
บทความโดย : อ.ยงยุทธ พีรพงศ์พิพัฒน์