ทฤษฎีการบริหาร ของท่าน ว.วชิรเมธี

ทฤษฎีการบริหาร ของท่าน ว.วชิรเมธี

 

ทฤษฎีการบริหาร ของท่าน ว.วชิรเมธี

 

 

 

       ในหนังสือ "บริหารคนให้สำราญ บริหารงานให้สัมฤทธิ์" ซึ่งมี "ท่าน ว.วชิรเมธี" เป็นผู้เขียนนั้น มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ยิ่งเฉพาะต่อประเด็นการบริหารจัดการบุคลากร และองค์กร ซึ่ง "ท่าน ว.วชิรเมธี" ตั้งข้อสังเกตในคำอนุโมทนาบอกว่า ในบรรดาสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ไม่มีอะไรจะซับซ้อนยิ่งไปกว่าคน เพราะคนคือองค์รวมของความซับซ้อน "เพราะคนคือองค์รวมของวิวัฒนาการสูงสุด ดังนั้น การอยู่กับคนให้ราบรื่น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการบริหารคนให้ประสบความสำเร็จ ยิ่งต้องใช้สติปัญญา และศิลปะขั้นสูง" "แต่ถ้าหากใครทำได้ คนคนนั้นนับเป็นยอดคน เหมือนกับปราชญ์คนหนึ่งเคยกล่าวว่า สุดยอดของการทำงาน ก็คือการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับคนให้ประสบความสำเร็จ"

       ผลเช่นนี้ จึงทำให้ "ท่าน ว.วชิรเมธี" มองว่าธรรมะกับผู้บริหารจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกัน ถ้าเราแยกธรรมะออกจาก ผู้บริหาร หรือแยกธรรมะออกจากการบริหารเมื่อไหร่ ก็จะเกิดสภาวะอนาธิปไตย คือการบริหารนั้นล้มเหลว ไม่มีใครฟัง เสมือนเป็นการบริหาร แต่ไม่มีคนทำตาม และทุกองค์กรเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น
"ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่มีศักยภาพที่จะบริหาร เพราะขาดหัวใจคือธรรมะ ถึงใช้อำนาจบริหาร ก็ไม่มีคนทำตาม ดังนั้น ธรรมะในการบริหาร จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ขาดไม่ได้"

       ถึงกระนั้น ธรรมะในการบริหารก็มีอยู่มากมาย ทั้งยังมีอยู่หลายทฤษฎี ขึ้นอยู่กับ ผู้บริหารด้วยว่าจะมีวุฒิภาวะในการนำมาใช้อย่างไร และเหมาะกับสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่งหรือไม่ แต่สำหรับ "ท่าน ว.วชิรเมธี" มองว่าทฤษฎีผู้บริหารนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบด้วยกันคือ

หนึ่ง ผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟ

สอง ผู้บริหารแบบนายแพทย์
สาม ผู้บริหารแบบชาวนา
สี่ ผู้บริหารแบบชาวประมง


       โดยผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟนั้น "ท่าน ว.วชิรเมธี" มองว่ามักจะไปตามราง มีโบกี้รถไฟ มีรางรถไฟ ขึ้นไปขับรถไฟ ไปตามราง จากสถานีต้นทาง ถึงปลายทาง ถ้ามีรางให้วิ่ง อย่างไรก็ถึง "ไม่คิดอะไรใหม่ ไม่ท้าทาย ไม่ลงทุน ไม่ปรับปรุง ไม่แสวงหาบริการเสริม ไม่ขายบริการ ขับไปเรื่อย ๆ กี่ปีกี่ชาติก็เป็นเช่นนั้นเอง นี่คือผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟ ปล่อยให้ระบบไหลไปตามกลไกของมันเอง โดยที่ตนเองแทบไม่แตะส่วนใด ๆ" "เมื่อได้เป็นผู้บริหารปุ๊บ นั่งอยู่ตรงนั้น รับเรื่อง ทำงานไปตามระบบ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ กลายเป็น ผู้บริหารประจำ เวลามีใครมาถามอะไร ถ้าเรื่องยังมาไม่ถึง ต่อให้มารบกันอยู่หน้าบริษัท ก็ไม่เรียกประชุม" "ถามว่าทำไม คำตอบคือ ยังไม่ได้รับรายงาน เขายังไม่ได้แจ้งเข้ามา ขอโทษ นะครับ ยังไม่ได้รับการประสานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จะรบก็รบ จะเผาก็เผา จะเอ็มเจ็ดสิบเก้ามายิงก็แล้วแต่ ถ้ายังไม่ได้รับรายงาน ก็ให้ผู้เกี่ยวข้องว่ากันไป นี่คือผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟ" "ผู้บริหารอย่างนี้ จะทำให้องค์กรอย่างดีที่สุดก็คือทรง อย่างแย่ก็ทรุด แล้วคนเก่งก็ไม่อยู่กับผู้บริหารที่ทำงานแบบพนักงานรถไฟ เพราะเขาต้องการอนาคต พอมาเจอผู้บริหารที่ทำงานในลักษณะเช้าชามเย็นชาม หรือเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ แบบพนักงานรถไฟ อย่างนี้คนเก่งก็ต้องออกไปสร้างเมืองใหม่กันทั้งนั้น" "นี่เป็นเหตุให้ผู้บริหารเช่นนี้จำนวนมากไม่มีคนเก่งในองค์กร เพราะมัวแต่ขับรถไฟไปตามรางแบบเรียบ ๆ เฉื่อย ๆ ฉิว ๆ ไม่มีการวางแผน ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจไม่ต้อง ทุกอย่างเป็นไปตามปกติว่ากันไปตามขั้นตอน"

       ขณะที่ผู้บริหารแบบนายแพทย์ "ท่าน ว.วชิรเมธี" อรรถาธิบายบอกว่าผู้บริหารแบบนายแพทย์คือเป็นนักแก้ปัญหา เวลาปัญหาเกิดขึ้น จะหาสมมติฐาน หาสาเหตุ หาวิธีการ แล้วลงมือผ่าตัด เยียวยารักษา ถ้าเยียวยารักษาได้ นายแพทย์จะมีความสุขมาก "ดังนั้น ผู้บริหารแบบนายแพทย์ จึงเป็น ผู้บริหารนักทำงาน แต่ก็เหมือนนายแพทย์คือ ถ้าไม่มีการเข็นผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลก็ไม่ทำอะไรเหมือนกัน ถ้าผู้ป่วยมาไม่ถึง ถึงเวลานัดหมายแล้ว คนไข้ยังไม่มา ก็อาจเล่นบีบี ทวิตข้อความขึ้นในทวิตเตอร์ หรืออาจติดตามใครสักคนในเฟซบุ๊ก แต่เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา ถึงจะลงมือทำงาน" "อย่างไรก็ดี ผู้บริหารแบบนายแพทย์ ยังดีกว่าผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟ เพราะผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟว่ากันไปตาม ขั้นตอน แต่ผู้บริหารแบบนายแพทย์ พอมีปัญหา ก็ลุกขึ้นมาแก้ไข ผู้บริหารแบบนี้ เป็นนักแก้ปัญหาที่ดีของระบบที่ดี แต่ค่อนข้างขาดวิสัยทัศน์ในการรุกคืบไปข้างหน้า" "พูดง่าย ๆ ว่า ทำงานเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีปัญหาก็ ไม่ถอย พร้อมที่จะลุกขึ้นมากล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้ารับผิดชอบ แต่ยังจำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในองค์กรเท่านั้น นั่นคือถ้าไม่มีปัญหาก็จะไม่เห็นการลุกขึ้นทำงานของผู้บริหารแบบนายแพทย์"

       แต่สำหรับผู้บริหารแบบชาวนา "ท่าน ว.วชิรเมธี" แสดงทรรศนะว่าผู้บริหารแบบชาวนาคือผู้บริหารที่เอาธรรมชาติ เข้าว่า การเมืองไม่ดีก็ไม่เป็นไรนักท่องเที่ยวไม่มาก็ไม่เป็นไร สบาย ๆ คือไม่คิดอะไรใหม่ "ชาวนา แม้จะมุ่งผลผลิตก็จริง แต่ผลผลิตนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น จะไม่ขยายตลาดเพิ่ม และผู้บริหารชนิดนี้จะจำกัดพื้นที่ที่ได้รับผิดชอบ มีมาเท่าไหร่จะจำกัดอยู่แค่นั้น" "รอฟ้า รอฝน หมายความว่า ไม่ค่อยคิดงานใหม่ ปล่อยให้สถานการณ์แวดล้อม พาไป แล้วแต่ว่าจะจับพลัดจับผลูให้ได้บริหารเรื่องอะไร ไม่ค่อยคิดโครงการล่วงหน้า ปฏิทินงานไม่ค่อยมีอะไรหวือหวาไม่ ซับซ้อน" "เรียกว่าพนักงานในองค์กรนี้ นั่งเซ็งกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าผู้บริหารนั้นรอฟ้า รอฝน ไม่มีงานพิเศษเข้ามา ไม่มีความท้าทาย ไม่ตื่นเต้น งานอีเวนต์ก็ไม่ทำ หน้าตักมีแค่ไหน ก็เอาแค่นั้น แล้วก็ไม่เสี่ยงด้วย นี่คือ ผู้บริหารแบบชาวนา" "แต่ผู้บริหารแบบชาวนายังดีคือมุ่งผลผลิต ถึงแม้จะไม่ทำงานหวือหวา แต่ชาวนาที่ดีก็คือยังหวังที่จะมีผลผลิตที่ดีเสมอ เช่นเดียวกับผู้บริหารที่ไม่เพิ่มงานใหม่ แต่ยังพยายามที่จะบริหารงานหน้าตักให้มีผล งอกเงย ก็ยังนับว่าเป็นผู้บริหารที่ใช้ได้"

       ส่วนผู้บริหารแบบชาวประมง "ท่าน ว.วชิรเมธี" มองว่าเป็นนักเสี่ยง นักท้าทาย และนักแสวงโชค เพราะมีความเชื่อมั่น ในตัวเองสูง กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ และกล้ารับผิดชอบ "ข้อดีของชาวประมงคือถ้าไม่มีทักษะ คุณก็จับปลาไม่ได้ แต่ข้อเสียคือความเสี่ยง แต่ส่วนมากแล้วชาวประมง ก็กล้าที่จะเสี่ยง เพราะถ้าเสี่ยงจนเกิดทักษะแล้ว ความเสี่ยงจะกลายเป็นโชค เราจึงเรียกผู้บริหารที่กล้าท้าทายว่านักเสี่ยงโชค" พร้อมกันนั้น "ท่าน ว.วชิรเมธี" ก็ยกตัวอย่าง "สตีฟ จอบส์" ผู้ก่อตั้ง Apple ตอนถูกลูกน้อง และผู้ถือหุ้นไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง ตอนนั้น "สตีฟ จอบส์" ออกไปเหมือนหมาหัวเน่า เดินลงจากตึก ด้วยน้ำตานองหน้า "เขาบอกว่าในโลกนี้มีใครแย่กว่าฉันอีกไหม ถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองตั้งมากับมือ ตั้งบริษัทแอปเปิลจากโรงรถ แล้วพอบริษัทมีทรัพย์สินกว่าพันล้าน จู่ ๆ ก็โดนไล่ออก" "เขาหายไปครึ่งปี เนื่องจากเขามีสัญชาตญาณผู้บริหารแบบชาวประมง แล้วเขาก็คิดขึ้นได้ว่า เราแค่ถูกไล่ออกจากบริษัท แต่ศักยภาพในการคิดงานยังอยู่กับเราครบทุกอย่าง พอคิดขึ้นได้เขาก็ไปตัดผมใหม่ แล้วเดินไปจดทะเบียนบริษัทใหม่ชื่อว่าบริษัทเน็กซ์ บริษัทนี้ผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นคู่แข่งกับแอปเปิล" "ไม่กี่ปียอดขายของบริษัทเน็กซ์ก็หายใจลดต้นคอกับบริษัทแอปเปิล ผู้ถือหุ้นบริษัทเดิมนั่งคุยกัน ว่าเราจะปล่อยให้สตีฟ จอบส์ท้าทายพวกเราอย่างนี้ไม่ได้ มิเช่นนั้น แอปเปิลจะเข้าตาจน ในที่สุด ผู้ถือหุ้นทั้งหมดจึงรวมหัวกัน เพื่อขอควบรวมกิจการกับบริษัทเน็กซ์" "สตีฟ จอบส์มองเห็นช่องทาง เขาจึงยินดีควบรวมกิจการกับบริษัทแอปเปิลและสิ่งแรกที่จอบส์ทำในฐานะที่เขากลับมาอีกครั้งหนึ่งคือนึกถึงความผิดพลาดครั้งแรกของเขา นั่นคือเขาตั้งแอปเปิลขึ้นมา แล้ว พอกำไรมาก ๆ เขาบริหารไม่ไหว จึงไป เชิญซูปเปอร์ซีอีโอคนหนึ่งเข้ามาบริหารแทน ซึ่งคนนี้ก็คือคนที่เตะเขาออกไปนั่นเอง" "ฉะนั้น การกลับมาครั้งนี้ สิ่งแรกที่สตีฟ จอบส์ทำคือปลดซีอีโอคนนั้น จากนั้น จอบส์ก็เข้ามาบริหารเองตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ จนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก และว่ากันว่า ทุกครั้งที่จอบส์ออกนวัตกรรมใหม่ นั่นหมายความว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกยุคหนึ่ง" นี่คือตัวอย่างคนกล้าเสี่ยงของผู้บริหารแบบชาวประมง ที่ไม่เพียงผู้บริหารองค์กรในประเทศไทยจะนำไปใช้เป็นแบบอย่าง หากผู้บริหารองค์กรในปัจจุบัน ยังสามารถที่จะนำทฤษฎี ผู้บริหารทั้ง 4 แบบของ "ท่าน ว.วชิรเมธี" ไปประยุกต์ใช้ด้วย

 

 


บทความโดย : ท่าน ว.วชิรเมธี
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 

 2933
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์