มีคนดีระบบไม่ดีก็ไม่ยั่งยืน ถ้าคนดีระบบไม่ดีคนดีก็ไม่อยู่ คนดีระบบดีองค์กรไปได้ดี ถ้าคนไม่ดีระบบดีองค์กรยังพอไปได้
เป็นซีอีโอที่มีโจทย์ชีวิตอยู่ว่า จะต้องทำทุกวินาทีให้มีค่า ทำให้ดีที่สุด ทำให้ดีกว่าเดิมในทุก ๆวัน นั่นหมายถึงการตระหนักถึงคุณค่า ของ "เวลา" และหากเป็นไปได้เขาจะทำงานจนกระทั่งอายุ 85 ปี
เขาคือ "ชานนท์ เรืองกฤตยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANANDA ทั้งนี้ก็เพราะชานนท์คาดหวังว่า ผลแห่งการไม่ปล่อยให้วันเวลาผ่านพ้นไปโดยสูญเปล่า จะทำให้คอลเล็คชั่นชีวิตของเขาสะสมไปด้วยความมุ่งมั่นและผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ
ทุกวันนี้ ชานนท์ ปฏิบัติตนตามวิถีไคเซ็น (Kaizen) ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงเพื่อทำให้ดีขึ้น ซึ่งหลักการที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการทำไค เซ็นมีอยู่ 3 เรื่อง นั่นคือ เลิก- ลด - เปลี่ยน
"ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำดีอยู่แล้วในอดีต มันต้องทำดีได้อีก ดังนั้นเวลาตื่นนอนในทุกๆ วันผมจะคิดถึงการที่จะต้องทำให้ดีกว่าเมื่อวานที่ผ่านมา และพยายามไดร์ฟตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้"
และด้วยความเป็นทั้งผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของ เป็นผู้นำองค์กรในเวลาเดียวกัน จึงถือว่าวิถีปฏิบัติเช่นนี้ของชานนท์เป็น "การนำ" ด้วยการปฏิบัติให้พนักงานเห็นเป็นตัวอย่าง
ถ้าผู้นำพูดอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอย่างหนึ่ง แล้วใครจะเชื่อ
"สำหรับความเป็นผู้นำ แน่นอนอยู่แล้วว่าเราต้องทำงานหนักมาก ผมไม่เคยตื่นสาย ไม่เคยมาทำงานสาย ไม่เคยไม่ตั้งใจทำงาน เหล่านี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ตัวผมต้องมี ถ้าไม่มีก็คงประสบความสำเร็จไม่ได้" ขณะที่เขาก็ตระหนักดีในเรื่องของ "ความเสี่ยง" ที่เกิดจากการที่ธุรกิจ "พึ่งพา" ตัวบุคคล ถ้าหากไม่มีคนๆ นี้ธุรกิจจะประสบปัญหาหรือเดินต่อไม่ได้ ดังเช่น เมื่อครั้ง "สตีฟ จ็อบส์ " เสียชีวิตและมีคำถามว่าแล้ว แอปเปิ้ล จะเป็นเช่นไร
"องค์กรต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ ใครคนใดคนหนึ่งไม่ควรจะมีอำนาจต่อรองสูงขนาดนั้น ไม่ยกเว้นแม้แต่ตัวผมกับอนันดาเอง เพราะต้องไม่มีใครใหญ่กว่าองค์กร หากใครทำงานโดยคิดว่าตัวเองมีอำนาจใหญ่กว่าองค์กร แสดงว่าองค์กรเกิดปัญหาแล้ว "
หากซีอีโออยู่หรือไม่อยู่ องค์กรก็ต้องเดินต่อได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความยั่งยืนขององค์กร
ชานนท์บอกว่าทุกวันนี้อำนาจไม่ได้กระจุกอยู่ที่ตัวเขา แต่เขากระจายให้กับผู้บริหารทั้ง 8 สายงานหลักของอนันดาเป็นที่เรียบร้อย ยังขาดอยู่ก็แต่ Successor
บทบาทของเขาในอนันดา คือ?
"หน้าที่ของผมคือการขับเคลื่อนให้บริษัทเติบใหญ่ โดยอาศัยการวางกลยุทธ์ให้ชัดเจน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องดูในเรื่องของความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ทั้งสภาพเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย ต้องดูดีมานด์ของตลาดว่าเป็นอย่างไร ต้องมีวิสัยทัศน์พอที่จะมองการณ์ไกลได้ และต้องระวังในสิ่งที่ควรระวัง เปรียบตัวผมเป็นกัปตันเรือ การจะนำพาเรือไปในทิศทางใดก็ต้องดูสภาพอากาศเป็นอย่างไร "
ในเวลานี้อะไรคือความท้าทาย
"ผมว่าต้องจับตาดูรัฐมนตรีคลังและท่านผู้ว่าแบงก์ชาติ และภาวะทางการเมือง และที่เป็นห่วงก็เรื่องของการส่งออก อัตราอ่อนแข็งของเงินซึ่งมีการเคลื่อนไหวที่อันตราย ทำให้เราประเมินความเสี่ยงได้ไม่คงที่ เป็นเหมือนอากาศเวลาแปรปรวนที่เราไม่รู้ว่าจะมีฟ้าผ่า หรือแดดออก"
แม้จะเป็นเช่นนี้ แต่เขาบอกว่าไม่มีความคิดที่จะนำบริษัทให้อยู่ในโหมดของความรักตัวกลัวตาย อยู่เฉยๆ ไม่กล้าเสี่ยง
"หน้าที่ของผมก็คือนักประเมินความเสี่ยงที่ต้องทำให้ธุรกิจเติบโตให้มากที่สุดอยู่แล้ว เวลานี้ผมออกเรือทุกวันเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้นักลงทุน"
นอกจากนั้น ในความเป็นกัปตัน จำเป็นต้องทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายในเรือหรือภายในองค์กรของตัวเองด้วย เขาบอกว่าที่ต้องพิจารณาก็คือ ตัวเลขในบัญชี สภาพคล่อง การก่อหนี้สิน ภาระดอกเบี้ย ฯลฯ ตลอดจนบุคลากรที่ต้องเก่งและแกร่งพอ อีกทั้งมีความรับผิดชอบในหน้าที่
แต่ที่สุดแล้ว เขาบอกว่า "ระบบ" เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด องค์กรต้องสร้างระบบให้แข็งแรง เพราะองค์กรจะเจริญเติบโตและอยู่รอดปลอดภัยได้ก็เพราะระบบ
" ถ้าองค์กรของเรามีคนดีแต่ระบบไม่ดีก็ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าคนดีแต่ระบบไม่ดี คนดีก็ไม่อยู่ คนดีระบบดีองค์กรจะไปได้ดี ถ้าคนไม่ดีแต่ระบบดีองค์กรยังพอไปได้ ไม่ติดลบ"
ชานนท์มองว่า อีกปัจจัยความสำเร็จของโลกธุรกิจในวันนี้หนีไม่พ้นเรื่องของ "นวัตกรรม" แม้กระทั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นเป็นตึกรามบ้านช่อง ก็จำเป็นต้องสร้างปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าที่เห็นหรือสัมผัสรู้สึกทึ่ง และประทับใจจนต้องอุทาน "ว้าว" (WOW Factors)
"ถามว่ายากหรือไม่ อาจใช่ แต่เพราะผมและคนในบริษัททำจนชิน จนเรื่องนี้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรา ในการทำโครงการแต่ละครั้งเราคิดถึง WOW Factors โดยตลอด คือเราต้องทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้"
วิธีการก็คือ ทั้งตัวเขาและทีมงานต้องท้าทายตัวเองในเรื่องที่ยากขึ้นอีก ดีขึ้นอีกตลอดเวลา ในธุรกิจที่เขาทำก็คือเรื่องของการดีไซน์ การก่อสร้าง รวมถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ซึ่งตัวช่วยที่ดีที่สุดสำหรับชานนท์ก็คือ การทำวิจัยและพัฒนา สำรวจความคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจลูกค้า เพื่อแกะความรู้สึกของลูกค้า แล้วรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบล่าสุดจากเวทีใหญ่อย่าง "เอเชียแปซิฟิค พร็อพเพอร์ตี้ อะวอร์ด 2013" สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของอนันดาหรือไม่ อย่างไร
"ต้องพูดว่าผมไม่ได้ยึดติดในเรื่องของรางวัล รางวัลเหมือนเป็นดาวติดบ่า เป็นการประดับบารมี ที่อาจนำไปอวดเพื่อนฝูงในวงการได้ ตัวผมเองรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้หลงใหลไปกับมัน แต่ถ้าได้ก็ย่อมดีกว่าไม่ได้"
เพราะจะสร้างความยั่งยืนที่แท้ให้ธุรกิจ จำเป็นต้องทำอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าการไปล่ารางวัล ซึ่งชานนท์บอกว่า นั่นก็คือการสะกดคำว่า คุณภาพและนวัตกรรม ให้ขึ้นใจ
บทความโดย : คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์