Collective Leadership

Collective Leadership

 

       คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดวิสุทธิ์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3829 (3029)

       ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงาน 
กับคนในหลากหลายวงการทั้งภาคธุรกิจ ภาคราชการ และภาคสังคม ในความแตกต่างของบริบทต่างๆ กลับมีหลายเรื่องที่สอดคล้องกันอย่างน่าประหลาดใจ เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนพบ ตั้งข้อสังเกตมาเป็นปี ทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนคิดว่าพอจะเล่าต่อให้ท่านที่สนใจไปทดลองใช้ดูบ้าง และอาจจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อีกในวันต่อๆ ไป เรื่องที่จะชวนคิดและทำคือการเป็น "Collective Leadership" ซึ่งคงเหมือนกับหลายเรื่องที่ต้องขออภัยก่อนว่ายังหาคำไทยเหมาะๆ ที่ตรงใจเหมือนคำว่า collective ไม่ได้ ถ้าท่านใดอ่านแล้วนึกคำใดออกที่ตรงกับเนื้อความที่จะเล่าต่อไปนี้ได้ จะแนะนำก็จักขอบคุณยิ่ง เนื่องจากเนื้อเรื่องก็มาจากคนไทยแท้ๆ จึงอยากได้คำไทยมากกว่า แต่ตอนนี้ในขณะที่ยังนึกไม่ออกจึงขออนุญาตทับศัพท์ไปก่อนนะคะ 

 

 

 

Collective Leadership

 

 

 

       ลักษณะของ collective leadership คือภาวะการทำงานของกลุ่มคนซึ่งสามารถผลัดกันนำ ผลัดกันตามในแต่ละสถานการณ์ สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่ไม่ใช่ทีมที่มีผู้นำเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทีมซึ่งอาจมีการสลับปรับเปลี่ยนผู้นำ โดยขึ้นกับธรรมชาติของงาน หรือธรรมชาติรอบข้างของงานนั้นๆ (บริบท) ปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น การเล่นดนตรีแจ๊ซ ทีมฟุตบอล ทีมกีฬาต่างๆ 

       ซึ่งโดยทฤษฎีเดิมนั้น เชื่อว่าควรมีผู้นำคนใดคนหนึ่ง ถ้าไม่มีก็ควรตั้งขึ้นมา จากการยอมรับของคนส่วนใหญ่ในกลุ่มก็ดี (ไม่ใช่คนทั้งหมด) แล้วผู้นำนั้นก็จะทำหน้าที่ "จัดการ" กับเรื่องต่างๆ โดยคนอื่นก็อาจมีส่วนร่วมในการคิดมากน้อยต่างกัน และเป็นผู้ทำตามผู้นำนั้นๆ ทฤษฎีเดิมนั้นไม่ได้ผิดอะไร ยังเป็นเช่นนั้นอยู่สำหรับทีมงานธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะถ้าเป็นหน่วยงานที่มีโครงสร้างเป็นทางการ คือมีการตั้งหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้บริหารในตำแหน่งต่างๆ อย่างเป็นทางการ การดำเนินตามนั้นก็จะง่าย และมีประสิทธิภาพ ข้อจำกัดที่พบคือการทำงานเป็นทีมกับคนเก่งมากมากหลายๆ คนที่มิได้จำเป็นต้องมีโครงสร้างอะไร เพียงแต่เราต้องมาทำงานร่วมกันเนื่องจากตัวเนื้องานเท่านั้น การทำงานร่วมกันจึงมิได้มี "ผู้นำ" แบบที่เขาจัดตั้งมาให้ หรือจะเลือกตั้งกันเองก็ยังตะขิดตะขวงใจ ทำใจไม่ค่อยได้ ถ้าจะให้ใครมาทำตัวเป็น "หัวหน้า" หรือเหนือกว่าคนที่เหลือ ...แบบนี้แหล่ะค่ะ เคยพบหรือไม่คะ เราจะทำอย่างไร

       ลักษณะแบบนี้ เช่น การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วนเพื่องานบางอย่าง หรือแม้แต่ภายในองค์กรเราเอง แต่เป็นองค์ประกอบจากต่างหน่วยงานที่ดูจะใหญ่เท่าๆ กัน บางกรณีก็เป็นการประชุมหรือการทำงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของตัวแทนประเทศต่างๆ หรือล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานที่ยากขึ้นมาอีกขั้น พูดง่ายๆ ว่า เก่งๆ กันมาจากแต่ละแหล่งทั้งนั้น การจะมาสั่งการใครในนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก ดังนั้นแม้จะพยายามหาผู้นำขึ้นมา ก็ใช่ว่าจะได้รับความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี อย่างเก่งก็หาได้เพียงผู้ดำเนินรายการหรือช่วยให้เหตุการณ์หนึ่งๆ ดำเนินไปเท่านั้น 

       จากบทความของผู้เขียน "เรียนรู้การบริหารคนจากสึนามิ" เมื่อปีที่แล้ว ได้เล่าเรื่องการทำงานเชิงเครือข่ายไปไว้บ้างแล้ว ซึ่งลักษณะนั้นก็ใช้ตอบโจทย์กลุ่มคนเก่งอย่างนี้ได้เช่นกัน คือแทนที่จะมีผู้นำเชิงหัวหน้า กลับเป็น "ผู้ประสานงาน" ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลส่งต่อข้อมูลให้กับทีมเท่านั้น งานควรจะดำเนินไปทางไหนเป็นเรื่องของทุกคน ที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำให้เกิดขึ้น การทำงานแบบเครือข่ายนั้นจึงสามารถทำงานเชื่อมต่อได้อย่างหลวมๆ สบายๆ เหมาะกับการเชื่อมต่อหลายองค์กรเข้าด้วยกัน 

       collective leadership นี้เป็นภาวะที่พบในการบริหารเชิงเครือข่ายนั้นด้วย และบางทีก็พบในกลุ่มคน ที่เป็นทีมที่เหนียวแน่นกันขึ้นกว่า เป็นเพียงเครือข่าย จนแทบไม่ต้องมีผู้ประสานงาน มีแต่คนรับผิดชอบเรื่องอะไรแต่ละเรื่องกัน ขณะทำงานในเนื้องานหนึ่ง คนหนึ่งก็เป็นคนนำเพราะอาจจะถนัดในเรื่องนั้นๆมากกว่าเพื่อน แต่ในอีกเนื้องานหนึ่งให้อีกคนเป็นคนนำเพราะเชี่ยวชาญกว่า การทำงานแบบนี้เป็นทีมที่สมาชิกรู้สึกเท่าเทียมกันจริงๆ เคารพซึ่งกันและกันด้วยความสามารถแท้จริงของพวกเขา ผลที่ได้คือผลงานที่ลื่นไหลไปได้กับสถานการณ์ ผลัดกันรับผลัดกันรุก สามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งงามๆ ได้จากความสามารถแต่ละคน และบางครั้งเกิดจากไอเดียประสานของแต่ละกัน เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง 

       ฟังดูเหมือนเป็นเพียงอุดมคติ ปัญหาที่พบคือ พอนำคนเก่งๆ มารวมกันนี้ กลับมีอาการต่างคนต่างใหญ่ ต่างคนต่างมีความสามารถ เรียกว่า "รวมดาว" เก่งๆ กันทั้งนั้น แต่แปลกที่ว่า พอรวมดาวมาไว้ด้วยกัน กลับทำงานได้ผลงานน้อยกว่าการทำงานด้วยคนธรรมดาธรรมดารวมกันทำ ผู้เขียนอยากจะเล่าให้ฟังว่า "collective leadership" นั้นมีเกิดขึ้นแล้วบ้าง ไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทีมที่ได้แต่ละทีมอาจขลุกขลักบ้าง คล่องตัวบ้างมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย 

       ผู้เขียนคิดว่าปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งเลยคือ "การรู้จักยอมรับและเรียนรู้จากกันและกัน" ของสมาชิกแต่ละคน ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนลดอัตตาของตนกันเถอะ ซึ่งฟังดูเหมือนยากเกินไป แต่จะชวนให้รู้จักฟังกันและกันมากขึ้น ฟังอย่าง "หัวเปิด" "ใจเปิด" และพร้อมเรียนรู้ของใหม่ตลอดเวลา นั่นหมายถึงว่าสมาชิกทีมแต่ละคนจึงมีลักษณะรับข้อมูลจากกันและกัน ฟังซึ่งกันและกัน และเชื่อมั่น วางใจให้เพื่อนเป็นผู้นำในเรื่องที่เขาถนัด เพื่อนที่เหลือก็คอยช่วยดูแล ช่วยเสริมเติม หรือทำตามเมื่อเพื่อนที่นำอยู่ร้องขอ หรือที่เขาคิดเองว่าเหมาะสม

       การยอมรับได้ว่ามีคนเก่ง เก่งดีๆ อีกมาก ไม่เพียงแต่เราทำได้ คนอื่นก็อาจมีความสามารถที่เราไม่เชี่ยวชาญเท่า หรือแม้เราก็รู้หรือทำได้เช่นกัน การยอมให้คนอื่นแสดงความสามารถได้ด้วยนั้น ก็เป็นความสามารถที่น่าชื่นชม และแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ของคนนั้นได้เป็นอย่างดี การยอมรับในความสามารถของผู้อื่นนั้น จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือการเล่นดนตรีแจ๊ซ 

       การเล่นดนตรีแจ๊ซ นักดนตรีแจ๊ซแท้ๆ ในวงแต่ละคนเป็นนักดนตรีที่เล่นได้เก่งกว่าเพียงเล่นตามโน้ตดนตรี เขาแต่ละคนสามารถอิมโพรไวส์ (improvise) หรือสามารถแต่งเพลงขึ้นสดๆ ณ ขณะที่เล่นไป สร้างสีสันดนตรีเป็นการสร้างผลงานศิลปะขึ้นมาทีละขณะๆ ที่บทเพลงร้อยเรียงไป มีการสลับกันเล่นนำสร้างสีสันขึ้นมาจากเครื่องดนตรีของตน คนที่เล่นนำก็สร้างสรรค์ผลงานจากใจได้ โดยมีเพื่อนร่วมวงช่วยเล่นประสานเป็นพื้นหลังให้ เล่นนำเสร็จก็สลับลงมาเล่นประกอบให้เพื่อนคนต่อไปได้เล่นนำบ้าง เพลงแจ๊ซที่เล่นได้ดี จึงเป็นเพลงที่สอดรับไพเราะ มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ผู้เล่นดูมีความสุขในการเล่น จึงมีเสน่ห์มาก 

       เมื่อเทียบเคียงกับการทำงานแบบอื่นของเรา จึงเหมาะสำหรับเมื่อทีมนั้นๆ มีคนเก่งๆ อยู่กันในทีม แต่ละคนมีความสามารถพลิกแพลงในงานที่ตนถนัดได้ดี สามารถสลับกันเป็นผู้นำในส่วนงานที่ตนถนัดได้ และที่สำคัญ "ลงเป็น" ยอมให้เพื่อนคนอื่นขึ้นไปนำได้เช่นกัน โดยคนที่เหลือก็ช่วยประคอง ช่วยเล่นประกอบช่วยเล่นเสริมให้เพื่อนที่กำลังเล่นนำอยู่นั้น สามารถสร้างสีสันให้สวยงามได้ ไม่ใช่พอถึงเวลาคนอื่นนำ ก็ขัดแข้ง ขัดขา แกล้งดีกว่า ซึ่งจะทำผลให้ผลการทำงานรวมของทีมนั้นออกมาไม่ดีเท่าที่น่าจะเป็น 

       เมื่อบรรยากาศแห่งการกดขี่ผู้อื่นไม่มีในวงหรือในทีมของเราแล้ว ความรู้สึกผ่อนคลายก็เกิดขึ้น ความรู้สึกสบายใจ และกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นสร้างสรรค์ต่างๆ ก็มาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าเสนอแล้วจะถูกรุมสกรัมให้เจ็บตัวเจ็บใจ เหมือน บางทีมที่อย่าได้พลาดมาเชียวนะ โดนแน่ ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมหรือสมาชิกในทีมแต่ละคนต้องคอยระแวดระวัง คิดมากจนความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถผุดขึ้นมาได้ ความคิดต่อยอดจากความคิดของผู้อื่นก็ไม่กล้ากระทำ 

       ทีมที่ทำงานร่วมกัน แม้ว่าดูเหมือนจะไปคนละทิศคนละทางเพราะต่างก็ improvise กันไปต่างๆ นานา แต่เพลงกับออกมาไพเราะขึ้น และยังรู้ได้ว่าใช้เพลงอะไรเป็นพื้นในการเล่นแจ๊ซครั้งนั้นๆ เพราะทำนองหลักเป็นทำนองเดียวกัน นั่นคือเมื่อเราทำงานเป็นทีมแบบนี้ หาจุดร่วมหรือหลักการร่วมกันไว้ แนวไหนที่เราจะเดิน เป้าหมายหลักของเราร่วมกันคืออะไร ส่วนวิธีการโดยละเอียดนั้น เนื่องจากแต่ละคนเก่งและเชี่ยวชาญกันอยู่แล้ว อาจปล่อยให้แต่ละคนแสดงฝีมือวาดลวดลายกันได้เต็มที่ 

       ขอเพียงยังอยู่ในแนวทางร่วมกันที่กำหนดร่วมกันไว้แล้ว และเปิดใจรับรู้ส่วนอื่นๆ ในทีมหรือ "ฟังดนตรีที่เพื่อนในวงกำลังเล่นอยู่ด้วย ในขณะที่เราก็กำลังเล่นอยู่"...เท่านั้นเอง เราก็จะได้ผลงานการทำงานเป็นทีม ที่มีสีสันงดงามกว่าธรรมดา... โดยการนำของผู้นำทั้งทีมหรือ "collective leadership" 




บทความโดย : คุณอรวรรณ เทพนิยม

 3518
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์