นาง ก. กับนาง ข. ได้ทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลฯ มีวัตถุ ประสงค์หลักคือประกอบกิจการให้บริการเช่าสำนักงานและให้เช่า รถยนต์โดยคู่สัญญาตกลงกันลงทุนด้วยเงินสดคนละ 10,000 บาท กำไรที่เหลือหลังจากเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลฯ แล้วจะนำมาแบ่งปันกันตามสัดส่วนการลงทุนและตามบันทึกแนบท้ายสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลฯ คู่สัญญาตกลงกันเพิ่มทุนโดยนาง ข. นำห้องชุดมูลค่า 3,797,700 บาท และนำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์มูลค่า 3,409,000 บาท มาลงทุนเพิ่มและนาง ก. นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ มูลค่า 2,349,000 บาท มาลงทุนเพิ่ม จึงขอทราบว่า
1. เงินได้จากค่าเช่าสำนักงานและค่าเช่ารถยนต์ ควรเป็น เงินได้ของคณะบุคคลฯ หรือเป็นเงินได้ของผู้ร่วมลงทุนแต่ละคน ตามสัดส่วนการลงทุน
2. การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้จากค่าเช่ารถยนต์ของคณะบุคคลฯ หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับนิติบุคคลได้หรือไม่
1. กรณีนาง ก. กับนาง ข. ทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลฯ โดยมี วัตถุประสงค์หลักคือประกอบกิจการให้บริการเช่าสำนักงานและ ให้เช่ารถยนต์โดยคู่สัญญาตกลงกันลงทุนด้วยเงินและทรัพย์สินและตกลงจะแบ่งปันกำไรที่ได้รับจากกิจการนั้น เข้าลักษณะเป็นสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นอันเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1015 จึงเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1013 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิใช่เป็นสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลเนื่องจาก สัญญาจัดตั้งคณะบุคคลคือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำ กิจการร่วมกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น ดังนั้น เงินได้จากค่าเช่า สำนักงานและค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีนาง ก. กับนาง ข. เป็นหุ้นส่วน
2. กรณีการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินจากค่าเช่ารถ ยนต์ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้มีเงินได้แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าอัตราร้อยละเป็นการเหมาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 5 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิและมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม
บทความโดย : กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย : http://www.prosmes.com